Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 พฤศจิกายน 2565

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2565 สะท้อนภาพการฟื้นตัว แต่ยังไม่ทั่วถึง ขณะที่ในปี 2566 ปัจจัยหนุนเบาบาง เป็นแรงกดดันการเติบโต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3355)

คะแนนเฉลี่ย

​      ในปี 2565 เครื่องชี้กิจกรรมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยสะท้อนภาพการฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งจากความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลายและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว  ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยกลับมาเร่งลงทุนเปิดโครงการใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในส่วนของกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยใหม่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง เนื่องจากกำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมยังมีความเปราะบางจากภาระค่าครองชีพและหนี้ที่สูง แม้มองว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 อาจจะเห็นการเร่งตัวของยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมากขึ้น หลังจากที่มาตรการผ่อนปรน LTV จะสิ้นสุดลงสิ้นปีนี้ แต่ก็ยังคงต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณสมบัติของผู้ซื้อที่ยู่อาศัย

     ขณะที่แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพิ่มมุมมองเชิงระวังมากขึ้น จากปัจจัยหนุนเริ่มเบาบาง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV (สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565) โดยตลาดต้องติดตามว่าทางการจะต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการซื้อที่อยู่อาศัยหรือไม่ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อยังเปราะบาง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น การแข่งขันในธุรกิจที่สูงและจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมสูง ล้วนยังเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมการซื้อและการลงทุนที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า

      ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ในปี 2566 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (รวมนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.75-1.82 แสนหน่วย หรือหดตัว 2.8% ถึงขยายตัว 1.1% เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัว 7.5% ในปี 2565 ขณะที่การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจจะลดลงเป็น 8.9-9.6 หมื่นหน่วย หรือหดตัว 6.3% ถึง ขยายตัว 1.1% เทียบกับที่เติบโตประมาณ 57.1% ในปี 2565

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม