ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากสถานการณ์โควิดและการเข้าถึงวัคซีนที่เริ่มมีสัญญาณบวก จนทำให้ภาครัฐมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเป็นจังหวะที่ธุรกิจต่างๆ ก็คงจะมีการออกแคมเปญทำตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย ส่งผลให้คาดว่า ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวที่ 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัว 1.2% (ประมาณการข้างต้น ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติมแล้วในระดับหนึ่ง) โดยตัวขับเคลื่อนหลักน่าจะเป็นการใช้จ่ายในช่วงเดือนธันวาคมที่มีเทศกาลปีใหม่
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิดจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ยังคงกังวลกับความปลอดภัยและเผชิญกับกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้ยังคงเลือกใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยเน้นเฉพาะในหมวดสินค้าที่ยังมีความจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นอย่างเสื้อผ้า รองเท้า น่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่ายอดขายอาจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยในไตรมาส 4 ปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยอดขายทั้งปี 2564 น่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2565 ทิศทางการฟื้นตัวของยอดขายธุรกิจค้าปลีกจะกลับมาแข็งแกร่งได้มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญคงจะขึ้นอยู่กับการจัดการสถานการณ์โควิด และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ ความเปราะบางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคท่ามกลางค่าครองชีพที่เร่งตัว รวมถึงการแข่งขันที่เข้มข้น จะยังเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกต่อเนื่อง
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น