Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กรกฎาคม 2561

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

คาดมูลค่าการลงทุนโครงการ Retirement Community ระหว่างปี 2561-2563 คิดเป็น 6,000 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2921)

คะแนนเฉลี่ย

​          ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุ ไปสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ที่นำมาซึ่งความต้องการที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่พัฒนาโดยภาคเอกชน แบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ 1) โครงการที่อยู่อาศัยทั่วไป ที่มีฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และ 2) โครงการ Retirement Community

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจากภาคเอกชนก็ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์น่าจะให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั่วไป ที่มีฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นเซ็กเมนต์ที่มีตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการจะมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มครอบครัวที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุแล้ว ยังสามารถขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั่วไป ที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคตได้อีกด้วย

           ​ในขณะที่ การพัฒนาโครงการ Retirement Community ก็น่าจะยังคงขยายตัว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แผนการลงทุนพัฒนาโครงการ Retirement Community ขนาดใหญ่ ในทำเลที่กระจายตัวในชานเมือง และต่างจังหวัด น่าจะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนโครงการ Retirement Community ระหว่างปี 2561-2563 คิดเป็น 6,000 ล้านบาท และหนุนให้มูลค่าการลงทุนโครงการ Retirement Community สะสมในประเทศไทยสามารถแตะระดับ 27,000 ล้านบาทได้ในปี 2563 จากในปัจจุบันที่อยู่ที่ 21,000 ล้านบาท

            แม้จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังมีรายได้ในระดับต่ำ และมีระดับการออมที่ไม่สูงมากนัก ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุยังมีขนาดจำกัด อย่างไรก็ดี การออมส่วนบุคคล และสัดส่วนการออมส่วนบุคคลเทียบกับรายได้พึงจับจ่ายใช้สอยส่วนบุคคลของประชากรไทย น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต สะท้อนโอกาสสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในระยะยาว โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน น่าจะอยู่ที่การให้บริการด้านอื่นๆ อย่างครอบคลุมตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น บริหารจัดการด้านการเงิน ดูแลรักษาผลประโยชน์ต่างๆ อำนวยความสะดวกด้านกฎหมาย อย่างการมีตัวแทนจัดการมรดก เป็นต้น ที่ผู้ประกอบการต้องมีการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความพร้อม และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งน่าจะสามารถดึงดูดผู้สูงอายุให้เกิดความไว้วางใจ และเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิตได้



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง