Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤศจิกายน 2561

ท่องเที่ยว

ไตรมาส 4 ปี 2561 คนกรุงเทพฯ เที่ยวไทย คาดก่อให้เกิดรายได้ท่องเที่ยวมูลค่า 58,025 ล้านบาท...เลือกเดินทางเมืองท่องเที่ยวรองเพิ่มขึ้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2941)

คะแนนเฉลี่ย

           นโยบายการกระตุ้นคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะการกระตุ้นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองผ่านมาตรการหักลดหย่อนภาษี รวม​ถึงการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ในประเทศที่เข้มข้นทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ตั้งแต่ต้นปี 2561 คนกรุงเทพฯ มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คนกรุงเทพฯ ยังมีแผนเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของจำนวนคนและจำนวนทริป

            สำหรับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 นี้ จากผลสำรวจ พบว่า แม้มีการกระจายตัวไปเมืองท่องเที่ยวต่างๆ มากขึ้น แต่ราวร้อยละ 58.8 ของกลุ่มตัวอย่าง ยังคงเลือกเดินทางท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา และชลบุรี เป็นต้น ขณะที่อีกร้อยละ 41.2 เลือกเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองท่องเที่ยวรอง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวรองส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคเหนือ เช่น จ.เชียงราย จ.น่าน จ.เพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.เลย และจ.มุกดาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ดี การกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวเดิมได้เช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจในแหล่งท่องเที่ยวเดิมคงจะต้องปรับแผนการทำตลาดรองรับการเปลี่ยนแปลง

           ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 นี้ คนกรุงเทพฯ เดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่การท่องเที่ยวเป็นมูลค่า 58,025 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อ​ยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้น มาจากจำนวนทริปที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกประเภท

              ปัจจุบัน การท่องเที่ยวมีความหลากหลายและแตกต่างจากเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งจากนโยบายของภาครัฐที่หันมาส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและการท่องเที่ยววิถีไทย ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เกิดธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ ขึ้น กอปรกับบทบาทของเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลมากขึ้นทั้งการเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวคงจะต้องมีการปรับแผนทางธุรกิจให้สอดคล้องไปกับปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวรองอาจใช้โอกาสจากนโยบายภาครัฐในการทำตลาดการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวผสมผสานวิถีชีวิตของชุมชนหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมสมัยใหม่ การทำตลาดโดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ผ่านช่องทางออนไลน์และเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ หรือการใช้เพื่อบอกเส้นทางของสถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม