ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยปี 2562 ยังเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ กำลังซื้อภาคประชาชนที่ยังเปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในตลาดที่อยู่ในระดับสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงทำการสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ เพื่อสะท้อนแนวโน้มความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใน 1-2 ปีนี้ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรการ LTV อันเป็นปัจจัยท้าทายเฉพาะในปี 2562 ที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ
จากผลสำรวจ พบว่ากลุ่มที่ถือครองที่อยู่อาศัยและมีความประสงค์ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคิดเป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 34 และเมื่อรวมกับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 2 ของภาพรวม ส่งผลให้กลุ่มที่จะเข้าข่ายได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV เบื้องต้น คาดว่ามีสัดส่วนราวร้อยละ 36 อย่างไรก็ตาม หากตัดผู้ซื้อที่น่าจะพ้นภาระการผ่อนชำระจากที่อยู่อาศัยหลังแรกออกไป กลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV จะอยู่ที่ราวร้อยละ 18-22 ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนบัญชีสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในแต่ละปี (อ้างอิงข้อมูลจาก ธปท.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่ามาตรการ LTV อาจมีผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยราว 18,000-22,000 บัญชี ทั้งนี้ผลกระทบดังกล่าว ส่งผลต่อผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ต้องสำรองเงินเพิ่มขึ้นที่ราว 11-22 เท่าของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับก่อนมาตรการ LTV ใช้บังคับที่ต้องสำรองเงินราว 5-11 เท่าของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย
ดังนั้น จากภาพกลุ่มผู้ซื้อในประเทศที่มีปัจจัยให้ต้องคำนึงถึงมากขึ้น เมื่อประกอบกับทิศทางการซื้อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติที่คาดว่าจะไม่เร่งขึ้นมาก จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอลงและบรรยากาศตลาดในประเทศที่มีความระมัดระวังมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 2562 อาจอยู่ที่จำนวน 169,300–177,000 หน่วย หรือหดตัวประมาณร้อยละ 8.5-12.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในปี 2561 ที่เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก กอปรกับการทำตลาดของผู้ประกอบการเพื่อเร่งระบายที่อยู่อาศัยค้างขายที่อยู่ในระดับสูง ก่อนที่มาตรการ LTV มีผลบังคับ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น