ในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี จะเป็นช่วงที่คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ สำหรับทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงนี้ น่าจะมีบรรยากาศที่ดีขึ้น จากการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยอย่างมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้" โดยเปิดให้ผู้ที่จะเดินทางท่องเที่ยวสนใจลงทะเบียนรับสิทธิ์ 1,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงผู้ที่ได้สิทธิ์ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท (ซึ่งเริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.-วันที่ 30 พ.ย. 2562) และการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ร่วมจัดทำกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ได้แก่ แคมเปญ “100 บาท เที่ยวทั่วไทย" และ “วันธรรมดาราคา Shock โลก" ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2562
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ (ซึ่งเป็นฐานตลาดการท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่ มีการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกลับภูมิลำเนา และการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการสัมมนา) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 550 ตัวอย่าง สำหรับผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2562 จากผลสำรวจ พบว่า คนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 76.9% ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 22.2% มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว (ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 62) มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ คนกรุงเทพฯ ที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ครั้ง (ทริป) เท่ากับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องจากมีวันหยุดยาวหลายช่วงและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภาครัฐ ขณะเดียวกันจำนวนวันพักค้างเฉลี่ยต่อทริปไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยอยู่ที่ประมาณ 2 คืน
โดยจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 พบว่า คนกรุงเทพฯ มีการกระจายตัวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น โดยภาคเหนือยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ และจ.เพชรบูรณ์ ขณะที่จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนกรุงเพทฯ รองลงมา อาทิ จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.กาญจนบุรี เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ มองว่า สื่อดิจิทัลออนไลน์ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ที่พักและการใช้บริการท่องเที่ยวอื่นๆ โดยเฉพาะเพจของบุคคลทั่วไป (Micro Influencer) ที่มีการรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านอาหารและร้านขายของในแหล่งท่องเที่ยวจนเป็นที่นิยมและมีผู้ติดตามจำนวนมาก ทำให้เกิดการแชร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การท่องเที่ยว
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2562 ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และการที่ภาครัฐมีแผนที่จะออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเฟส 2 อาจเป็นปัจจัยช่วยหนุนให้คนกรุงเทพฯ มีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว (ผลสำรวจพบว่า ปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจหรือเปลี่ยนแปลงจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว) น่าจะเป็นแรงบวกที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 นี้ การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ น่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่การท่องเที่ยวในประเทศเป็นมูลค่า 60,000 ล้านบาท หรือขยายตัวประมาณ 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ทั้งปี 2562 คนกรุงเทพฯ เที่ยวไทยน่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่การท่องเที่ยวในประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 227,300 ล้านบาท เติบโต 2.6% จากปี 2561
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น