Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 ตุลาคม 2562

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

มาตรการลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมซื้อขายที่อยู่อาศัย ช่วยหนุนตลาด ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่หลากหลาย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3044)

คะแนนเฉลี่ย

              ตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมาภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ประกอบกับผลจากมาตรการ LTV ที่เข้ามาควบคุมคุณภาพสินเชื่อในระบบ รวมถึงจำนวนที่อยู่อาศัยค้างขายสะสมที่สูงในหลายระดับราคา ส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้มีการจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปี นอกจากนี้รัฐบาลเองได้ออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ อาทิ มาตรการลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยหลังแรกเป็นของตนเอง รวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ดี เครื่องชี้อสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลโดยรวมยังบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัว สภาวะดังกล่าวทำให้รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแรงขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง

          โดยวันที่ 22 ตุลาคม ได้มีการประกาศมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่ 1. มาตรการลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย โดยได้ปรับเพดานราคาที่อยู่อาศัยจากเดิม 1 ล้านบาท เป็น 3 ล้านบาท 2.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท สำหรับซื้อ(ทั้งมือหนึ่งและมือสอง) และซ่อมแซมที่อยู่อาศัยผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

             ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับเพดานดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลให้มีการขยายฐานให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขึ้น แต่ยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสระบายที่อยู่อาศัยค้างขายในราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 54 จากจำนวนโครงการค้างขายทั้งหมดในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

           ​อย่างไรก็ดีจากความท้าทายต่างๆที่ยังคงอยู่ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผลจากมาตรการดังกล่าวยังไม่ได้เปลี่ยนมุมมองที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวมของปี 2562 แต่อาจช่วยให้ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 2562 นี้ เพิ่มจาก 121,730 หน่วย (ม.ค. ส.ค. 2562) ขยับไปแตะกรอบบนที่เคยได้ประมาณการไว้เมื่อกลางปีที่ 177,000 หน่วยหรือหดตัวลงร้อยละ 10 จากปี 2561


​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม