Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤศจิกายน 2563

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2564 … ผ่านจุดต่ำสุด แต่ยังคงเผชิญความท้าทาย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3163)

คะแนนเฉลี่ย

​​ในช่วงท้ายของปี 2563 ตลาดที่อยู่อาศัย เริ่มมีข่าวดีหลังจากการพัฒนาวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด ส่งผลด้านบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดีการระบาดของโควิดได้ส่งผลให้ทั้งปี 2563 ทั้งจำนวนหน่วยเปิดตัวและยอดโอนที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีการหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 น่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่แนวโน้มข้างหน้ายังคงเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ แรงกดดันจากจำนวนที่อยู่อาศัยสะสมรอขายที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮ้าส์ที่มีจำนวนสะสมเร่งตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการยังระมัดระวังในการเปิดโครงการเพิ่มเติม ด้วยปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2564 การเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.2-7.5 หมื่นหน่วย หรือหดตัวประมาณร้อยละ 1.4 ถึงขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 2.7

ขณะที่ทางฝั่งของกำลังซื้อของผู้บริโภคงชาวไทยคาดว่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2563 เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้กำลังซื้อน่าจะยังไม่กลับมา ประกอบกับความกังวลต่อความมั่นคงในอาชีพ ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติคาดว่าจะมีความต้องการซื้อที่ที่ยังฟื้นตัวจำกัด เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับการแพร่ระบาดซ้ำในประเทศสำคัญของโลก ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องต่อความเชื่อมั่นและความสามารถของผู้ซื้อชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการแข่งขันของตลาดที่อยู่อาศัยในแต่ละประเทศที่น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าอัตราการจองซื้อที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2564 จะมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 7.1 – 7.6 หมื่นหน่วย หรือหดตัวประมาณร้อยละ 5.3 ถึงขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.3 ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จะทรงตัวอยู่ระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาโดยคาดว่าจะมีจำนวน 1.85 – 1.89 แสนหน่วย หรือหดตัวประมาณร้อยละ 1.1 ถึงขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่อาจเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกต่อธุรกิจที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 เป็นการปรับตัวในทิศทางที่ค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยปัจจัยแวดล้อมของตลาดที่อยู่อาศัยยังไม่เอื้อ ทำให้ผู้ประกอบการยังต้องระมัดระวังการลงทุน เช่นเดียวกับกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยยังมีข้อจำกัดสูง ทำให้ผู้ประกอบการยังคงต้องทำการตลาดอย่างหนักต่อเนื่อง 


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง