Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มกราคม 2565

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4/2564 ขยายตัวต่ำสุดในรอบปีที่ 4.0 %(YoY)...มองทั้งปี 2565 โต 5.0% (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3963)

คะแนนเฉลี่ย

​เศรษฐกิจจีนทั้งปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.1(YoY) สูงกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0 (YoY) โดยในไตรมาส 4/2564 เศรษฐกิจเติบโตที่ 4.0 (YoY) นับเป็นการขยายตัวรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในรอบปีส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า โดยการชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 นี้เป็นผลจากการเผชิญกับประเด็นหนี้และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์จากการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Covid-Zero) และราคาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ทางการจีนเลือกใช้นโยบายทางการเงินในการเพิ่มสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการประกาศปรับลดสัดส่วนกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในอัตรา 0.5% สำหรับสถาบันทางการเงิน ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 15 ธันวาคม 2564 โดยเป็นปรับลดครั้งที่สองในปีนี้ รวมถึงได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) สำหรับการกู้ 1 ปี ลงร้อยละ 0.05 ลงสู่ระดับ 3.8% ในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ย LPR ครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่เมษายน 2563

โดยภาคการบริโภคเอกชนของจีนยังคงเติบโตแม้มีการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ในไตรมาส 4 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคบริการ PMI Service Caixin ที่มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจขนาดเล็กยังคงอยุ่ในทิศทางขยายตัวในกรอบ 52.1-53.8 หลักจากในเดือนสิงหาคม 2564 ที่ลดลงมาอยู่ระดับต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกในรอบปีที่ 46.7 ขณะที่ภาคการผลิตยังคงถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าวิกฤติพลังงานเริ่มคลี่คลาย โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แตะระดับสูงสุดในเดือนตุลาคมที่ระดับร้อยละ 13.5 (YoY) ก่อนปรับลดมาที่ 10.3 (YoY) ในเดือนธันวาคม โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ในวัสดุก่อสร้าง อาทิ ซีเมนต์และเหล็กกล้า ที่ลดลงในช่วงฤดูหนาว รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเติบโตได้ในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมไฮเทค ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างชะลอตัว ผลจากนโยบาย “สามเส้นแดง” ที่ออกมาเพื่อลดการก่อหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และการกำหนดสัดส่วนสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และต่อผู้กู้ซื้อบ้าน  สำหรับภาคการส่งออกทั้งปี 2564 มีการเกินดุลการค้ามูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเริ่มบันทึกในปี 2493 ท่ามกลางภาวะสงครามการค้าที่ยังไม่คลี่คลาย โดยการเกินดุลแตะระดับ 676 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 29.1 (YTD, YoY) โดยภาพรวมการส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 29.9 (YTD, YoY) ขณะที่ภาคการนำเข้าทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 30.1 (YTD, YoY)

มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจจีนในปี 2565 ยังเผชิญแรงกดดันจากภายนอกจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และความเสี่ยงภายในประเทศที่ยังรุมเร้า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ กอปรกับภาวะชะลอตัวลงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจลากยาว รวมถึงประเด็นด้านการยกระดับกฎหมายเข้าควบคุมเศรษฐกิจ (Regulatory Crackdown) ที่น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการผูกขาด และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามแนวคิดเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) อย่างไรก็ดี ในปี 2565 เชื่อว่าทางการจีนจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้ราวร้อยละ 5.0 ผ่านการเริ่มเห็นแนวทางการผ่อนคลายทั้งด้านนโยบายทางการเงินและการคลังของจีนในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.0 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 4.8 – 5.4)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ