Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 สิงหาคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น .... มองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3945)

คะแนนเฉลี่ย

​​มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนหลังวิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008 แม้จะประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศให้เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6% ต่อปีในศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ได้สร้างปัญหาคั่งค้างที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินภาคธุรกิจ (corporate debt) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 94 ต่อจีดีพี ในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 161 ต่อจีดีพี ในปี 2563 ปัญหาหนี้ของจีนกลับมาสร้างความกังวลอีกครั้ง เมื่อมีข่าวการผิดนัดชำระตราสารหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีขนาดเม็ดเงินผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่มีท่าทีคลี่คลาย และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังยกระดับความรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นความเสี่ยงเฉพาะรายบริษัท (company specific risk) ที่จะไม่ลุกลามไปสู่ปัญหาความเสี่ยงเชิงระบบ (systematic risk) เนื่องด้วย 1)ฐานะทางการเงินและเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์จีนยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับลดลงจากระดับสูงสุดของปีที่แล้วที่ 1.96% ในเดือนกันยายน 2563 มาอยู่ที่ 1.75% ในเดือนมิถุนายน 2564 ขณะที่อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 14.48% ณ เดือนมิถุนายน 2564 เทียบกับ 14.21% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน  2)ทางการจีนสามารถจัดการบริหารจังหวะและมูลค่าของการรับรู้ NPL ได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะกระทบตลาดเป็นวงกว้าง 3)ทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจของจีนในอนาคตยังมีแนวโน้มที่ดี ในปี 2563 ที่เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญภาวะถดถอย ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับขึ้น อาจส่งผลให้การส่งออกของจีนขยายตัวชะลอลงในอนาคต อย่างไรก็ดี ประเทศจีนได้เตรียมพร้อมในการลดการพึ่งพาการส่งออกและหันมาพึ่งพาการบริโภคในประเทศ ในขณะที่จีนให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเร่งพัฒนาR&Dเพื่อเป็นผู้นำเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ และการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด สะท้อนจากแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว อาทิ การเป็นสุดยอดด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence 2030) และการเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยียุคใหม่ (China Standards 2035) รวมถึงเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality 2060) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในยุคต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือน และฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก หากทางการจีนไม่สามารถควบคุมได้ อาจเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ยังคั่งค้าง และก่อตัวลุกลามเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินได้ ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯและพันธมิตรที่ยกระดับขึ้น












                                                                                                                                                                                                        ​ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ