Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 ตุลาคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3/2564 โตชะลอลงที่ 4.9 %(YoY)...วิกฤติพลังงานยังเป็นความเสี่ยงในช่วงไตรมาสสุดท้าย (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3953)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3/2564 เผชิญกับประเด็นทางเศรษฐกิจจากหลากหลายปัจจัย ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนนั้นมีอย่างจำกัด ทำให้ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2564 นี้ชะลอตัวที่ร้อยละ 4.9 (YoY) ต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 18.3 (YoY) และไตรมาส 2/2564 ที่ร้อยละ 7.9 (YoY) ตามลำดับ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ภาคการผลิตจีนถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและปัญหาพลังงานขาดแคลน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยขยายตัวในกรอบร้อยละ 9.0 – 10.7 (YoY) ในไตรมาสที่ 3 นี้ จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ถ่านหิน เหล็ก และเคมีภัณฑ์ที่ราคายังคงสูงต่อเนื่อง
  • ภาคการบริการจีนได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากพบการแพร่ระบาดโควิด-19 ชนิดกลายพันธ์เดลต้าช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ที่เริ่มจากมณฑลเจียงซูก่อนจะลุกลามไปกว่า 31 มณฑล ทางการจีนได้ใช้มาตรการเข้มข้นสกัดกั้นการลุกลามของเชื้อตามนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์" ในการปิดเมือง ส่งผลให้ภาคบริการของจีนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
  • การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกดดันจากทั้งมาตรการของรัฐและแรงกดดันจากตลาด แม้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรโดยทั่วไปยังขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 (YTD, YoY) แต่ความกังวลของภาคเศรษฐกิจกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น หลังข่าวการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ทำให้อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอาจจะชะลอลง
  • การส่งออกยังคงขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในสามไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 22.7 (YoY,YTD) แตะระดับ 15.55 ล้านล้านหยวน ขณะที่ ด้านการนำเข้าของจีนในสามไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 22.6 (YoY,YTD) แตะระดับ 12.79 ล้านล้านหยวน ทั้งนี้ ในสามไตรมาสแรกของปี อาเซียนยังครองตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ

มองไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง จากทั้งฐานที่สูงในปีก่อน และจากปัจจัยความไม่แน่นอนที่รุมเร้า โดยเฉพาะวิกฤติพลังงานขาดแคลนที่อาจจะลากยาวข้ามช่วงฤดูหนาวของปี แม้ว่าทางการจีนจะพยายามอย่างต่อเนื่องในการหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ทดแทนการใช้ถ่านหิน อย่างไรก็ดี ถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของจีนในการใช้ผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าถึง 65% ซึ่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจีนยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม จากความเชื่อมโยงที่สูงระหว่างห่วงโซ่การผลิตจีนและโลก  การชะงักงันภาคผลิตของจีนอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตโลก (Global Supply Chain) ได้

​​ 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน ทั้งปี 2564 ลงมาในกรอบ 7.5 – 8.0 (YoY) จากความเสี่ยงด้านวิกฤติพลังงานที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอาจมีผลจะกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทั้งภาคผลิตและภาคบริการ กอปรกับปัญหาเดิมที่ยังคั่งค้าง อาทิ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ส่งกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และบรรยากาศการลงทุนของจีนในภาพรวม รวมถึงความเสี่ยงด้านสงครามทางการค้าที่ยังไม่คลี่คลาย และการออกมาตรการของทางการในการควบคุมธุรกิจต่างๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ เชื่อว่าทางการจีนจะประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือขยายตัวทั้งปี 2564 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0(YoY)ได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ