Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 เมษายน 2566

เศรษฐกิจไทย

การส่งออกไตรมาสแรกของปี 2566 ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก ประกอบกับปัจจัยฐานที่ในระดับสูงจึงหดตัวที่ -4.5%(YoY) (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4000)

คะแนนเฉลี่ย

        การส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2566 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ -4.2% (YoY) โดยเป็นผลจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อน อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า การส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2566 ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ และมีมูลค่าสูงถึง 27,654.4 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งสูงสุดในรอบ 12 เดือน ตามการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหลายประเภทที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในภาพรวมของไตรมาส 1/2566 การส่งออกไทยหดตัวที่ -4.5% (YoY) ขณะที่การนำเข้าหดตัวเล็กน้อยที่ -0.5% (YoY) ส่งผลให้ไทยยังคงเผชิญกับการขาดดุลการค้าที่ 3,044.2 ล้านดอลลาร์ฯ
        สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่าบรรยากาศการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาภาคธนาคารในประเทศตะวันตก สภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงทิศทางค่าเงินในระยะข้างหน้า ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามากดดันภาพรวมการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 ติดลบที่ -1.2% โดยจากปัจจัยฐานในไตรมาสแรกของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลให้การส่งออกไทยในไตรมาส 1/2566 หดตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น ๆ ในปีนี้ ขณะที่ในระยะข้างหน้าการส่งออกไทยอาจหดตัวชะลอลงในไตรมาสถัดไปและอาจกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จากปัจจัยฐานที่ลดลง ขณะที่แม้ดุลการค้าได้กลับมาเป็นบวกในเดือนมีนาคม 2566 กว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่ดุลการค้าจะพลิกกลับมาติดลบได้อีกตามมูลค่าการส่งออกที่อาจลดลง ขณะเดียวกันการนำเข้าก็มีความเสี่ยงที่จะยังยืนอยู่ในระดับสูงตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังขยายตัวได้ ประกอบกับความไม่แน่นอนด้านทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม