Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กรกฎาคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/2564 ส่งสัญญาณชะลอตัว ที่ 7.9%(YoY) คาดทั้งปี 2564 ยังเติบโตได้ที่ 8.0-8.5% (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3938)

คะแนนเฉลี่ย
​อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2/2564 เติบโตที่ร้อยละ 7.9 (YoY) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่เติบโตร้อยละ 18.3 (YoY) อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และสถานการณ์การความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ทั้งในประเทศจีนเองและประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการของชาติตะวันตกที่อาจออกมาเพิ่มเติมเพื่อกดดันจีน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
ภาคการผลิตจีนกลับมาเติบโตในระดับก่อนเกิดโควิด แต่เผชิญปัญหาใหม่เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานประสบปัญหาคอขวด สะท้อนผ่านดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนมิถุนายน 2564 PPI ขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.8 (YoY) ต่อเนื่องจากเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 (YoY) 9.0 (YoY) ตามลำดับ ตลอดจนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในมณฑลกวางตุ้ง ที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ภาคธุรกิจจีนเผชิญวิกฤตด้านการขนส่ง ท่าเรือหยุดชะงักส่งผลให้การขนส่งเกิดความล่าช้า และส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น 
ภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณความน่ากังวล โดยความน่ากังวลยังคงอยู่ที่ความเป็นไปได้ของการประกาศปิดเมืองอีกครั้ง หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ประกอบกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านไวรัสที่เกิดจากการกลายพันธุ์ ทั้งนี้ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในมณฑลกวางตุ้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งผลกระทบต่อภาคบริการมากกว่าภาคการผลิต สะท้อนผ่านตัวเลข PMI (Caixin) ภาคการบริการ เดือนมิถุนายนที่ปรับตัวลงแตะระดับ 50.3 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน 
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในอุตสาหกรรมที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมยังคงเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่า โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวโดดเด่นนั้นยังอยู่ในกระแสการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการ work-from-home ทั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการลงทุนในบริการ E-Commerce ทั้งนี้ เห็นได้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในประเทศจีนนั้นดำเนินไปในทิศทางนโยบายที่ประเทศตั้งไว้ กล่าวคือเน้นการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีที่เพิ่มมูลค่าและเน้นคุณภาพ มากกว่าการลงทุนแบบเดิมที่เน้นการผลิตแบบการประหยัดเชิงขนาดเป็นหลัก
ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของจีนยังเป็นสหรัฐฯ โดยยอดการส่งออกรวมในครึ่งปีแรก 2564 ขยายตัวร้อยละ 28.1 (YoY, YTD) แตะระดับ 9.85 ล้านล้านหยวน สินค้าส่งออกจีนที่มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นได้แก่ ยานยนต์และแซสซีติดตั้งเครื่องยนต์ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ในขณะที่สินค้าที่สนับสนันสนุนการส่งออกในปีที่แล้ว อาทิ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ขยายตัวเพียงเล็กน้อย ในด้านของการนำเข้าของจีน ในครึ่งปีแรก 2564 ขยายตัวร้อยละ 25.9 (YoY, YTD) แตะระดับ 8.22 ล้านล้านหยวน โดยแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของจีนคือกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.6 ของยอดการนำเข้าทั้งหมด ตามมาด้วยกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 12.2) และไต้หวัน (สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 9.1) โดยสินค้าที่มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ แร่เหล็ก แร่ทองแดง และเมล็ดธัญพืช 
จากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 และปัญหาอื่นๆที่รุ้มเร้า อาทิ สถานการณ์การความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ทั้งในประเทศจีนเองและประเทศคู่ค้า รวมถึงความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มยกระดับความรุนแรงจากระดับทวิภาคีเป็นระดับพหุภาคี จากการกดดันจีนร่วมกันผ่านการประชุมร่วมของกลุ่มประเทศ G7 และ NATO ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ทางการจีนได้เลือกใช้นโยบายทางการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยธนาคารกลางของจีน (PBoC) ได้ปรับลดอัตราดำรงเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Requirement) ลง 50 bps มีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นการปรับ RRR ที่ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปตลอดจนขนาดเล็ก ซึ่งการปรับลด RRR ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1 ล้านล้านหยวน (มูลค่าประมาณ 154 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าจีนในหลายมิติ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัจจัยความเสี่ยงทั้งหลาย คาดว่าทางการจีนยังคงมีเครื่องมือทางการเงินและการคลังที่มากพอ ในการประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวใกล้เคียงกรอบที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนทั้งปี 2564 ในกรอบร้อยละ 8.0-8.5 (YoY) บนสมมุติฐานว่าไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวงกว้าง



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ