Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 กรกฎาคม 2561

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.7% YoY ในไตรมาส 2/2561...ขณะที่ทางการจีนอาจจะเผชิญกับความท้าทายในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว หากข้อพิพาททางการค้าลากยาวออกไป (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3751)

คะแนนเฉลี่ย

       รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของจีนไตรมาส 2/2561 ยังคงบ่งชี้ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่นโยบายของภาครัฐเป็นปัจจัยที่จำกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจในบางภาคส่วน การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2561 ขยายตัวร้อยละ 6.7 YoY ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 YoY โดยหากพิจารณาถึงองค์ประกอบของการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะพบว่าปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นผลจากมาตรการในการดูแลความเสี่ยงภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐและการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น อันสะท้อนผ่านการลงทุนในสินทรัพย์คงทนที่ชะลอจากระดับร้อยละ 7.5 YoY ในช่วง 3 เดือนแรกของปี เหลือร้อยละ 6.0 YoY ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อย่างไรก็ดี แรงส่งจากภาคบริการของจีนยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจีดีพีภาคบริการ (Tertiary Industry) ที่ขยายตัวเร่งขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนอาจเผชิญความเสี่ยงจากประเด็นพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่กระทบจต่อจีนในปีนี้ ยังคงอยู่ในระดับจำกัด ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของจีนในไตรมาส 2/2561 พบว่าการค้าของจีนยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ น่าจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้อย่างจำกัด แม้ว่าสหรัฐฯ จะได้ประกาศที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในอัตราร้อยละ 25 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนไม่ได้พึ่งพาการขยายตัวจากการส่งออกมากนัก โดยการบริโภคและการลงทุนในประเทศมีส่วนกว่าร้อยละ 90 ขององค์ประกอบการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่หากสถานการณ์ข้อพิพาทการค้าลากยาวออกไปอาจจะส่งผลต่อการลงทุนใหม่ของภาคอุตสาหกรรมจีนปรับลดลง อันจะส่งผลกระทบที่ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป

            มองไปข้างหน้า หากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีนยืดเยื้อ ทางการจีนอาจจะเผชิญกับความท้าทายในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในที่สุดแล้ว ทางการจีนคงจะหาหนทางในการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อลดทอนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากข้อพิพาททางการค้าไม่เป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งจีนและสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงที่การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ ทางการจีนคงออกนโยบายในการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศให้มีบทบาทมากขึ้น เพื่อให้จีนสามารถที่จะบรรลุข้อตกลงที่ดีต่อการค้าของทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่ ปัจจัยที่ต้องจับตา คงจะหนีไม่พ้นการตัดสินใจในอนาคตของนโยบาย Made in China 2025 อันเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาวของจีน และเป็นเป้าหมายโจมตีหลักของสหรัฐฯ ในสงครามการค้าครั้งนี้


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม