Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 กรกฎาคม 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้ผลช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/2563 ขยายตัวดีกว่าคาดที่ร้อยละ 3.2 YoY (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3875)

คะแนนเฉลี่ย

            เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2/2563 พลิกกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 (YoY) จากที่ติดลบถึงร้อยละ 6.8 (YoY) ในไตรมาสที่ 1/2563 อันเป็นผลจากประสิทธิผลของทางการจีนในการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาดำเนินได้เป็นปกติมากขึ้น โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial production) สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ร้อยละ 4.8 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2563 จากที่ติดลบถึงร้อยละ 8.4 (YTD, YoY) ในไตรมาสที่ 1/2563 ขณะที่การส่งออกในไตรมาสที่ 2/2563 พลิกกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยร้อยละ 0.14 (YoY) จากที่ติดลบถึงร้อยละ 13.4 (YoY) ในไตรมาสที่ 1/2563 โดยได้อานิสงส์จากปัจจัยชั่วคราวจากการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางแพทย์ที่ขยายตัวสูง อาทิ หน้ากากอนามัย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศที่ยังรุนแรง

          มองไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 แนวคิดการออกมาตรการผ่อนปรนของทางการจีนที่ให้บริษัทนำเที่ยวสามารถกลับมาจำหน่ายแพ็คเกจท่องเที่ยวภายในประเทศได้อีกครั้งอันจะมีส่วนช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศและช่วยสร้างการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวของจีนกว่า 28 ล้านคน อาทิ ธุรกิจที่พักและโรงแรม ขณะที่ทิศทางการส่งออกของจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่แน่ชัดจากอุปสงค์โลกที่ยังอ่อนแรง

          ​จากมุมมองในช่วงครึ่งปีหลังที่เป็นบวกมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่หดตัวร้อยละ 1.8 (YoY) โดยการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีนจากอานิสงส์ของมาตรการภาครัฐ สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจจีนปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองต่อภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี 2563 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 3.0 ต่อปี ภายใต้หลายประเด็นความเสี่ยงที่อาจกดดันการฟื้นตัวของจีน โดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ