ในที่สุดสหรัฐฯ ก็ประกาศเพิ่มการเก็บภาษีสินค้าจีนอัตราร้อยละ 10 กับสินค้ากลุ่มที่เหลืออยู่ 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ เริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ซึ่งสาเหตุหลักยังคงเป็นเพราะการเจรจาระหว่างกันไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะในฝั่งจีนที่พยายามต่อรองเงื่อนไขที่ท้าทายอย่างมากของสหรัฐฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเก็บภาษีรอบนี้ยิ่งส่งผลกดดันการส่งออกสินค้าไทยที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตของจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ทำให้กระทบต่อการส่งออกของไทยภาพรวมในปี 2562 ขยับสูงขึ้นเป็น 2,400 ล้านดอลลาร์ฯ (จากเดิมที่ 2,100 ล้านดอลลาร์ฯ ที่มองว่าสหรัฐฯ จะยุติการเก็บภาษีไว้ที่ร้อยละ 25 กับสินค้าจีนรวมมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ) และผลกระทบดังกล่าวจะปรากฏชัดขึ้นในปี 2563 ซึ่งเมื่อรวมทั้งผลทางอ้อมจากการอ่อนแรงทางเศรษฐกิจทั่วโลกยิ่งฉุดการส่งออกของไทยในภาพรวมอ่อนไหวต่อเนื่องในปีหน้า
อนึ่ง เส้นทางการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในระยะต่อไปยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขณะที่การตอบโต้ทางภาษีระหว่างกันมีมานานกว่า 1 ปี และดูเหมือนว่าการเก็บภาษีครั้งนี้น่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่บทสรุปของสงครามการค้า เพราะมีผลครอบคลุมสินค้าระหว่างกันแทบทุกรายการไปหมดแล้ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า สหรัฐฯ จะยังเดินหน้าสงครามจิตวิทยากดดันจีนต่อไปทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ 1) ทางตรง สหรัฐฯ อาจดึงเอานโยบายที่มิใช่ภาษีและนโยบายด้านอื่นที่สหรัฐฯ ใช้ก่อนหน้านี้มากดดันเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสกัดธุรกิจจีนในการดูดซับเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ รวมทั้งห้ามผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ทำธุรกิจค้าขายเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจจีน และ 2) ทางอ้อม สหรัฐฯ อาจนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีอยู่ อาทิ การระงับสิทธิ GSP และมาตรการทางภาษี AD/CVD มาปรับใช้กับประเทศอื่น เพื่อพุ่งเป้าสกัดธุรกิจและการค้าของจีนที่ส่งผ่านมาจากประเทศตัวกลางต่างๆ ที่จีนไปขยายฐานการผลิตหรือใช้เป็นหนึ่งในช่องทางส่งออกไปสหรัฐฯ ขณะที่การลงทุนที่กระจายความเสี่ยงจากจีนมาลงทุนในประเทศต่างๆ จนทำให้ประเทศผู้ผลิตมีปริมาณการส่งออกไปสหรัฐฯ จนเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ก็อาจเข้าข่ายเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) ซึ่งกรณีเหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ไทยต้องเฝ้าระวังขึ้นไปอีก
คงต้องรอติดตามต่อไปเพราะเป็นประเด็นทางการเมืองที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่ทั้งคู่คงต้องชั่งน้ำหนักอย่างมากก่อนตัดสินใจขั้นต่อไป
ดังนั้น เศรษฐกิจและการค้าโลกในปี 2563 จึงยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และพร้อมจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ตลอดเวลาภายใต้การนำของนายโดนัดล์ ทรัมป์ อันส่งผลต่อภาพรวมให้ไม่สดใสเท่าที่ควร ประกอบกับปัจจัยอ่อนไหวที่เป็นผลสืบเนื่องจากการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้ส่งผ่านปมความขัดแย้งทางเทคโนโลยีมายังความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น เยอรมนีกับจีน ตลอดจนความเปราะบางภายในภูมิภาคยุโรปที่มาจากผลพวงของ BREXIT สิ่งเหล่านี้อาจฉุดรั้งให้บรรยากาศทางธุรกิจในปี 2563 ยังคงภาพอึมครึมจนมาถึงจุดต่ำสุด และจะคลี่หลายดีขึ้นในปี 2564 หากสหรัฐฯ เปลี่ยนโฉมหน้ารัฐบาลใหม่
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น