Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 ธันวาคม 2550

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

คอนโดมิเนียมปี 2551: ความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน … ภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2008)

คะแนนเฉลี่ย

ถึงแม้ว่าภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีหมูไฟยังคงประสบภาวะการชะลอตัวต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเผชิญกับปัจจัยลบ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมกลับยังคงเติบโตสวนกระแสตลาด โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้หันมาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้น โดยเฉพาะทำเลในย่านธุรกิจใจกลางเมือง และตามเส้นทางรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินพาดผ่าน และจากการที่ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ประกอบกับผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มได้ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยได้หันมาเน้นพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับราคาปานกลาง ราคาประมาณ 1-3 ล้านบาท และยังคงพัฒนาโครงการตามเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบพาดผ่าน เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าลูกค้าระดับที่มีรายได้ปานกลางเป็นฐานตลาดลูกค้ากลุ่มที่มีขนาดใหญ่ และลูกค้าส่วนใหญ่ที่ทำงานในย่านธุรกิจ ยังคงต้องการที่จะหาซื้อที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงานตนเอง สะดวกสบายในการเดินทาง ประหยัดเวลา เป็นต้น และโครงการคอนคอนโดมิเนียมที่ถูกเปิดตัวออกมานั้นได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ทำให้เกิดกระแสการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมระดับราคาประมาณ 1-3 ล้านบาท ทำเลใกล้รถไฟฟ้า 2 ระบบ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีจำนวนที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2551 มีประมาณ 17,000 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากที่คาดว่าจะมีจำนวน 16,000 หน่วย ในปี 2550 เนื่องจากการเร่งเปิดโครงการคอนโดมิเนียมเป็นจำนวนมากในช่วงก่อนหน้าได้ทยอยสร้างเสร็จ

สำหรับแนวโน้มที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในปี 2551 คาดว่า ตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค คือ สถานการณ์ทางการเมือง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ และประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และสามารถเร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง 3 สาย เป็นต้น น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ยังคงมีความเสี่ยง ที่ส่งผลต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในขณะนี้จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบในการวางแผนการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อรอดูทิศทางที่เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น จึงส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยให้ชะลอออกไป อาทิ

การปรับขึ้นราคาน้ำมันที่สูงเป็นประวัติการณ์ หากราคาน้ำมันยังคงพุ่งสูงขึ้นในปีหน้า น่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาการปรับขึ้นของราคาน้ำมันจะมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ในทำเลที่ใกล้กับโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบ หรือทำเลใจกลางเมือง เนื่องจากสามารถช่วยผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่ารถโดยสารประจำทางได้ทำการปรับขึ้นมา ราคาแก๊สหุงต้มได้เริ่มมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น และการเริ่มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคของผู้ผลิตบางราย แน่นอนว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าแต่ระดับรายได้คงที่ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัย

ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ที่เป็นแรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อยังเป็นตัวแปรที่มีส่วนในการกดดันอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าปรับสูงขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะกำหนดปริมาณการการซื้อที่อยู่อาศัย นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว อัตราดอกเบี้ยและราคาที่อยู่อาศัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยด้วย ซึ่งหากราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ ก็อาจเป็นปัจจัยลบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยได้ เนื่องจากกำลังซื้อลดต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับฐานราคาบ้านที่ต้องการ แม้อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในขณะนี้ก็ตาม

ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการในปีหน้า ผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมอาจต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการขยายโครงการ เนื่องจากความเสี่ยงจากปัจจัยภาวะราคาน้ำมัน ภาวะราคาสินค้า และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย หากมีความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจไม่ฟื้นตัวดังที่คาดไว้ ซึ่งจะนำมาสู่ภาวะอุปทานล้นตลาดในตลาดคอนโดมิเนียมได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง