จากปัจจัยลบที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเด่นชัดมากกว่าปัจจัยบวกต่อภาพรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อยังสูงอยู่ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าจะอ่อนตัวลงมาบ้างแล้วในครึ่งหลังปี 2551 รวมถึงปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ที่คาดว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาซ้ำเติมบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ที่เป็นไปในทิศทางชะลอตัวลงอยู่แล้วจากปัจจัยทางเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มชะลอตัวเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะมากหรือน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นรวดเร็วเพียงใด ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าการค้าส่งค้าปลีกในครึ่งหลังปี 2551 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2-5 โดยผู้บริโภคจะมีแนวโน้มบริโภคสินค้าและบริการที่มีความคุ้มค่าต่อการจับจ่ายเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายน่าจะขึ้นกับรายได้และรสนิยมเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในการแยกวัตถุประสงค์การเข้าใช้บริการธุรกิจค้าปลีกแต่ละประเภท
ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้การวางแผนกลยุทธ์เฉพาะเจาะจง และครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแต่ละทำเลพื้นที่ด้วยตำแหน่งการตลาดที่ชัดเจน และการสร้างความแตกต่างทั้งในส่วนของสินค้าที่วางจำหน่าย หรืออิงกระแสที่กำลังที่เป็นที่นิยมในแต่ละช่วงเวลา และการตกแต่งที่แตกต่างมีเอกลักษณ์ นอกเหนือจากกลยุทธ์ด้านราคา เพื่อก่อให้เกิดแบรนด์ลอยัลตี้ และสร้างความถี่ในการเข้ามาใช้บริการให้มากขึ้น จึงน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกยุคผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง และในภาวะค่าครองชีพสูงเช่นปัจจุบัน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น