Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 กันยายน 2551

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน : ปรับกลยุทธ์...ฝ่าปัจจัยลบ (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2096)

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบันตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านนับได้ว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการพัฒนารูปแบบร้านค้าและการขยายช่องทางการตลาดของธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านรูปแบบใหม่ ที่มีการกระจายสาขาไปตามพื้นที่ต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการทำแคมเปญการตลาดอย่างหนัก โดยผ่านสื่อโฆษณาในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดมากมายและง่ายต่อการนำมาใช้ของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มนิยมตกแต่ง และปรับปรุงบ้านด้วยตนเองมากขึ้นหรือมีพฤติกรรมแบบ DIY (Do It Yourself) มากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย[1] ในปี 2551 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 292,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2550 (โดยการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคา ตามทิศทางต้นทุนการผลิตของสินค้าต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านหลายชนิดที่มีการปรับราคาขึ้น เช่น วัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กและไม้ สุขภัณฑ์ เป็นต้น) สำหรับปัจจัยที่น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัว คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศใช้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อสภาวะตลาดได้บ้าง โดยมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันผู้ซื้อบ้านที่ได้รับการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถนำเงินส่วนที่เหลือจากการหักลดหย่อนภาษีมาใช้ในการซื้อสินค้าตกแต่งบ้านเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามในระยะที่เหลือของปี 2551 ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ยังคงเผชิญกับความเสี่ยง แม้ว่าขณะนี้แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง แต่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงยืนในระดับสูง สะท้อนว่าอำนาจซื้อบริโภคยังไม่ดีขึ้นมากนัก แต่แนวโน้มราคาน้ำมันยังมีโอกาสผันผวน ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ยังจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงการชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย การซื้อสินค้าตกแต่งบ้านหรือการปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้บริโภค ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจจะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่บังเกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น จึงอาจกล่าวได้ว่าในระยะที่เหลือของปี 2551 อาจเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เนื่องจากขาดปัจจัยบวกที่จะเข้ามาสนับสนุนความต้องการในตลาด


[1] [1] ตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งและการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในที่นี้ครอบคลุมเฉพาะตลาดผู้บริโภค ซึ่งไม่รวมการซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างในตลาดผู้ประกอบการ และไม่นับรวมสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง