Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 เมษายน 2552

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ภาคก่อสร้างปี’52 ซบเซาต่อเนื่อง...หวังแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐฯ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2150)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2551 ที่ผ่านมา การก่อสร้างภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่มีปริมาณงานก่อสร้างลดลงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนและการผลักดันโครงการลงทุนใหม่ๆ มีความล่าช้า อีกทั้งราคาวัสดุก่อสร้างที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากทำให้ผู้รับเหมาบางส่วนชะลอการก่อสร้างออกไป ประกอบกับราคาน้ำมันและราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงได้ทำให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลง ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยซึ่งได้แพร่กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยวิกฤตดังกล่าวกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับปี 2552 พบว่า โครงการก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดโครงการใหม่ๆ ลดน้อยลง เนื่องจาก ปริมาณที่อยู่อาศัยคงค้างที่ยังรอขายมีจำนวนค่อนข้างมาก แนวโน้มการก่อสร้างของภาคเอกชนในปี 2552 แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรง อาจทำให้ผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจและอาจชะลอแผนการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ ออกไป รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อาจเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ด้านผู้บริโภคเองเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยย่อมส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนให้ลดลง อาจทำให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะลดลงไปด้วย

การลงทุนของภาครัฐนั้นมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2552 คือ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดงช่วงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในขั้นของการดำเนินการจริงอาจมีความล่าช้าเกิดขึ้น โดยอุปสรรคที่สำคัญคือเสถียรภาพทางการเมืองและข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งหากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าเป้าหมายมากอาจทำให้การจัดสรรเงินเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ มีความล่าช้าออกไป

ภาพรวมการก่อสร้างในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการก่อสร้างในปี 2552 ภายใต้สมมติฐาน 2 กรณี คือ กรณีพื้นฐาน เป็นกรณีที่ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะเอื้ออำนวยให้รัฐบาลผลักดันโครงการต่างๆ ให้คืบหน้าได้บ้าง คาดว่า ภาคก่อสร้างอาจหดตัวประมาณร้อยละ 1.5 ส่วนใน กรณีเลวร้าย ถ้าหากภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความถดถอยต่อเนื่องตลอดช่วงปี 2552 ประกอบกับปัจจัยในด้านเสถียรภาพทางการเมืองอาจทำให้การดำเนินโครงการลงทุนมีความคืบหน้าได้ล่าช้า คาดว่า ภาคก่อสร้างอาจหดตัวประมาณร้อยละ 4.0

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง