Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 ตุลาคม 2552

บริการ

หนังสือพิมพ์ออนไลน์ : แนวโน้มพัฒนาสู่ระบบเก็บค่าบริการสมาชิก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2675)

คะแนนเฉลี่ย

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารในโลกปัจจุบัน เป็นตัวผลักดันให้การพัฒนาของสื่อหนังสือพิมพ์ทั่วโลกเริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ให้ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารได้สะดวกและรวดเร็วจากทั่วทุกมุมโลกในรูปแบบสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ นอกจากนี้ บริการรับข่าวสารในรูปแบบข้อความสั้น(Short Message Service : SMS) และข้อความมัลติมีเดีย(Multimedia Message Service : MMS) ก็ถือเป็นช่องทางที่ผู้ให้บริการข่าวของไทยเริ่มหันมาพัฒนาขยายตลาดในส่วนนี้มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญๆที่ประชาชนสนใจติดตามเป็นพิเศษ

โดยปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้การนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่นี้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว คือ ราคาคอมพิวเตอร์ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง การพัฒนาของอุปกรณ์สื่อสารและสื่ออินเทอร์เน็ตที่ขยายครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น รวมถึงการพัฒนาในระบบความเร็วในการส่งผ่านข้อมูล และการเติบโตของสื่อโฆษณาออนไลน์ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ทำให้สามารถให้บริการแก่ผู้อ่านโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายได้ แต่ในระยะยาวหากการเติบโตของหนังสือพิมพ์ออนไลน์และบริการส่งข้อความข่าวผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มีผลกระทบต่อยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับลดลง

ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสื่อสารสูง อาทิ สหรัฐฯ และยุโรป จนทำให้หลายสื่อสิ่งพิมพ์ได้ปิดตัวลงไป และส่วนที่เหลือก็เริ่มปรับตัว โดยหันมาทำตลาดหนังสือพิมพ์ออนไลน์มากขึ้น ในไทยก็เช่นกันความนิยมสื่อหนังสือพิมพ์รูปแบบใหม่เริ่มขยายตัวสูงขึ้น และคาดว่าในอนาคตผู้ผลิตของไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับการให้บริการในรูปแบบเก็บค่าสมาชิกจากผู้อ่าน แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีสื่อสาร และการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ยังครอบคลุมไม่ทั่วทุกพื้นที่ ทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ของไทยในปัจจุบันยังคงให้บริการออนไลน์โดยที่ไม่เก็บค่าบริการ แต่สร้างรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บไซต์

ประกอบกับยังคงมีกลุ่มผู้อ่านที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับมากกว่าการอ่านแบบออนไลน์ จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับยังคงประคองตัวอยู่ได้ แต่อาจต้องปรับลดการผลิตลง จนส่งผลต่อผู้ผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ในประเทศ นอกจากต้องประสบปัญหาความต้องการใช้ชะลอตัวแล้ว ยังต้องแข่งขันกับกระดาษนำเข้าอีกด้วย จึงต้องปรับกลยุทธ์เน้นการส่งออกสู่ตลาดประเทศในแถบเพื่อนบ้าน ภูมิภาคอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังคงมีความต้องการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนตลาดในกลุ่มประเทศที่มีความต้องการใช้ชะลอตัวจากผลของการขยายตัวของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วเข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ