Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มกราคม 2553

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างปี 2553...งานก่อสร้างรัฐ-เอกชนอาจหนุนมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 แสนล้านบาท (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2733)

คะแนนเฉลี่ย
อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยในช่วงต้นปี 2552 หดตัวลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การผลักดันโครงการขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และระยะที่ 2 (หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2555: SP2) ของรัฐบาล ทำให้การลงทุนก่อสร้างภาครัฐขยายตัวค่อนข้างดีในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2552 และต่อเนื่องไปถึงปี 2553
สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งการลงทุนก่อสร้างภาครัฐยังถูกคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยผลักดันการก่อสร้างโดยรวม อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคเอกชนในกลุ่มที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมมีแนวโน้มขยายตัวได้จากประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงมาตรการและกฎหมายบางด้าน ได้แก่ การปรับเงื่อนไขของโครงการบ้านบีโอไอให้ครอบคลุมบ้านระดับราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท จากเดิมที่มีราคาไม่เกิน 6 แสนบาท ซึ่งน่าจะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในโครงการดังกล่าวลดลงได้ จึงอาจส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางและล่างทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียมน่าจะคึกคักมากขึ้น ขณะที่การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอาจมีผลให้มีการเร่งลงทุนขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกก่อนที่พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ส่วนการก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรมยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงสูงอยู่ และบางอุตสาหกรรมยังเผชิญปัญหาความไม่ชัดเจนด้านกฎระเบียบของภาครัฐเกี่ยวกับโครงการลงทุนที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน
สำหรับโครงการลงทุนภาครัฐ คาดว่าโครงการลงทุนขนาดเล็กของรัฐที่พร้อมที่จะดำเนินการได้จะยังเป็นปัจจัยผลักดันธุรกิจก่อสร้างในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้โครงการใหม่ที่เป็นโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น กว่าที่จะเริ่มต้นได้อย่างเร็วน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อีก ซึ่งในส่วนของระบบขนส่งมวลชนรูปแบบราง คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ น่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ก่อน
ทั้งนี้ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองยังปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อธุรกิจการก่อสร้างที่ยังต้องพึ่งพิงการลงทุนก่อสร้างจากภาครัฐเป็นสำคัญ จนกว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะผลักดันการก่อสร้างภาคเอกชนให้เติบโตได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังควรติดตามประเด็นความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนในการก่อสร้างภาครัฐในปี 2553 นี้ อาจมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 3.5-8.0 ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนอาจขยายตัวร้อยละ 2.5-5.0 ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0-6.5 จากที่คาดว่าในปี 2552 จะขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐเป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าตลาดการก่อสร้างในปี 2553 เนื่องจากต้นทุนค่าก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปีนี้ ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนด้านก่อสร้าง ณ ราคาปีปัจจุบันอาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 819,000-847,000 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 10.0-14.0 จากที่ในปี 2552 อาจมีมูลค่าการลงทุน (ราคาปีปัจจุบัน) อยู่ที่ 743,400 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.5

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง