Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 ธันวาคม 2553

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

การก่อสร้างปี 2554 ยังขยายตัวต่อเนื่อง … ก่อสร้างภาครัฐอาจขยายตัวถึงร้อยละ 7.5 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3011)

คะแนนเฉลี่ย

อุตสาหกรรมก่อสร้างในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ขยายตัวได้ค่อนข้างดี แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเกิดขึ้น โดยการก่อสร้างภาคเอกชนได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังภาคการก่อสร้างเริ่มชะลอตัวชัดเจน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด

สำหรับในปี 2554 อุตสาหกรรมก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยคาดว่าการก่อสร้างภาครัฐจะสามารถขยายตัวได้ค่อนข้างดีและจะเป็นปัจจัยหนุนต่อธุรกิจก่อสร้างโดยรวม เนื่องจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐหลายโครงการมีความคืบหน้ามากขึ้น และอาจมีการก่อสร้างในช่วงเวลาเดียวกัน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมทั้ง การก่อสร้างตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดเล็กทั้ง ถนน การบริหารจัดการน้ำ และการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมอีกด้วย

ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างภาคเอกชนมีทิศทางขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2553 รวมทั้งการก่อสร้างในส่วนที่อยู่อาศัยที่จะไม่ร้อนแรงเหมือนในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สิ้นสุดลง ปัญหาอุปทานส่วนเกิน และอัตราดอกเบี้ยที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้น ประกอบกับการเฝ้าติดตามปัจจัยเสี่ยงภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างประเภทอุตสาหกรรมน่าจะสามารถเติบโตต่อเนื่องได้ในระดับที่ดีตามทิศทางการขยายการลงทุนในประเทศ จากการขยายกำลังการผลิต และการย้ายฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรมมายังประเทศไทย ส่วนการก่อสร้างโครงการในพื้นที่มาบตาพุดที่เคยถูกระงับน่าจะเริ่มก่อสร้างและมีปริมาณงานเพิ่มขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในประเด็นสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสุขภาพ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจเพิ่มข้อจำกัดต่อการก่อสร้างภาคอุตสาหกรรม

ด้านการก่อสร้างตลาดพาณิชยกรรมน่าจะยังมีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน จากการลงทุนขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกที่เน้นรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและเข้าถึงแหล่งชุมชนมากขึ้น อาทิ รูปแบบร้านค้าขนาดเล็กและคอมมูนิตีมอลล์ โดยเฉพาะคอมมูนิตีมอลล์ซึ่งมีกระแสค่อนข้างแรง นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ รวมทั้งการขยายสาขาไปสู่หัวเมืองต่างจังหวัด และหัวเมืองตามชายแดน อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 อาจต้องติดตามประเด็นความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. ... รวมทั้งการแข่งขันในตลาดค้าปลีกที่น่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่

ทั้งนี้ ปัจจัยทางการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลต่อโครงการก่อสร้างภาครัฐ รวมทั้งประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ และความเชื่อมั่นของภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากทิศทางของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ปัจจัยทางด้านต้นทุนการก่อสร้างก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งจากทิศทางราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ส่วนแรงกดดันทางด้านแรงงานอาจมีมากขึ้นจากความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

โดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการลงทุนด้านก่อสร้าง ณ ราคาคงที่ ในปี 2554 อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-6.5 โดยเป็นผลจากการก่อสร้างภาครัฐที่จะขยายตัวร้อยละ 4.5-7.5 ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนอาจขยายตัวร้อยละ 3.5-5.5 ขณะที่มูลค่าตลาดก่อสร้าง ณ ราคาปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0-9.7 โดยจะมีมูลค่า 865,000-886,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 807,500 ล้านบาทในปี 2553 (ขยายตัวร้อยละ 9.1)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง