Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มีนาคม 2554

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

สินเชื่อที่อยู่อาศัยปีกระต่าย: แม้ตลาดไร้ปัจจัยหนุน ... แต่อุณหภูมิการแข่งขันยังเข้มข้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3055)

คะแนนเฉลี่ย

แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2554 นี้ คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงตามภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กิจกรรมการซื้อขายคงจะชะลอตัว แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังอาจได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของรายได้ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลในเชิงบวกต่ออำนาจซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่อย่างไรก็ดี สำหรับผู้บริโภคโดยทั่วไปแล้วอำนาจซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มถูกกระทบจากปัจจัยลบหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับขึ้นราคาขายที่อยู่อาศัย ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็กำลังเผชิญกับอำนาจการซื้อที่อยู่อาศัยหดแคบลง ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งโดยปกติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายย่อมส่งผ่านมายังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ได้ส่งผลต่อผู้บริโภคที่พึ่งพาสินเชื่อสถาบันการเงินในการซื้อที่อยู่อาศัย ทั้งในด้านกำลังซื้อและความสามารถในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การแข่งขันด้านธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้จะยังคงมีความเข้มข้น เพราะแม้ว่าจะมีปัจจัยลบที่สำคัญที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่สถาบันการเงินต่างยังคงเดินหน้าสร้างความเติบโตทางธุรกิจ โดยกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ น่จะประกอบไปด้วย กลยุทธ์ด้านราคาที่จะออกมากระตุ้นตลาดเป็นระยะๆ โดยเฉพาะจากฝั่งธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ แม้ว่าสถาบันการเงินจะพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาแต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะในภาวะที่ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น ความกังวลในเรื่องของภาระรายจ่ายการผ่อนชำระสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคบางกลุ่มคงจะเริ่มมองหาสถาบันการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อที่จะช่วยแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระสินเชื่อ การเพิ่มช่องทางการขยายสินเชื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะการรุกไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กร หรือบริษัทที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินนั้นๆ รวมถึงการทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 2554 นี้ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 2,014,350-2,033,215 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.5-8.5 ชะลอลงจากที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 9.8 ในปี 2553 (ตัวเลขประมาณการณ์โดยรวมคาดการณ์ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยของบริษัทประกันชีวิต)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง