เมื่อวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยบ้านหลังแรก ซึ่งเป็นโครงการสินเชื่อสำหรับผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรก ทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสอง และบ้านปลูกสร้างเอง โดยเสนออัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี มีระยะเวลากู้ 30 ปี โดยกำหนดมูลค่าที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดจำนอง (ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 1.0 ของวงเงินกู้ ) และค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย (ค่าธรรมเนียมการโอนอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ของราคาประเมินของทางราชการ) โดยให้วงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.0 ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในแต่ละปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้น่าจะส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีนี้ กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยมาตรการดังกล่าวทางรัฐบาลจะมอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า มาตรการสินเชื่อบ้านหลังแรกน่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้มีความคึกคักมากขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในการที่จะเร่งระบายสินค้าของตน อย่างไรก็ดี การลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ผู้ประกอบการคงจะต้องเพิ่มความระวังมากขึ้นในการทำตลาดในทุกกลุ่มที่อยู่อาศัยและทุกระดับราคา เนื่องจากภาวะตลาดปัจจุบันมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อภาระรายจ่ายของผู้บริโภคปรับตัวขึ้นตาม นอกจากนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีอุปทานเหลือขายสะสมเป็นจำนวนที่สูง และผู้ประกอบการยังคงมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอตัวลง ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุนำไปสู่ปัญหาต่อผู้ประกอบการในภายหลังได้
นอกจากนี้ในส่วนของการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวคงจะมีผลทำให้การแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีความเข้มข้นมากขึ้นโดยมาตรการดังกล่าว ซึ่งกำหนดเงื่อนไขการให้กู้สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาสูงสุด 3 ล้านบาท นั้น ถือว่าคาบเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ จึงน่าจะมีผลต่อฐานลูกค้ากลุ่มธนาคารพาณิชย์เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง และในภาวะที่ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น ความกังวลในเรื่องของภาระรายจ่ายการผ่อนชำระสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคบางกลุ่มคงจะเริ่มมองหาสถาบันการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อที่จะช่วยแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระสินเชื่อ ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการสินเชื่อบ้านหลังแรกนั้น ธนาคารพาณิชย์ที่คงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาด โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่คงต้องมีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะมีการลงมาเล่นที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.0 ก็ตาม แต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่น 3 เดือน 6 เดือน เป็นต้น เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการคงจะระมัดระวังในการดำเนินกลยุทธ์ด้านราคาที่ต่ำ
สำหรับแนวโน้มยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2554 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการขึ้น จากผลของมาตรการสินเชื่อบ้านหลังแรกที่จะทำให้กลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีความพร้อมทางการเงินให้ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเร็วขึ้น โดยคาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 2554 นี้ จะมีประมาณ 2,025,350-2,042,715 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.0-9.0 ชะลอลงจากที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 9.8 ในปี 2553 (ตัวเลขประมาณการโดยรวมคาดการณ์ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยของบริษัทประกันชีวิต)
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น