Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กันยายน 2555

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯและปริมณฑลโค้งสุดท้ายปี 2555: แม้น้ำเหนือจะไม่เป็นปัญหา ... แต่น้ำฝนยังสร้างความกังวลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3356)

คะแนนเฉลี่ย

ตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต้องเผชิญกับปัจจัยหลากหลายที่มีผลต่อการเติบโตของตลาด อาทิ ปัญหาน้ำท่วมหนักในปี 2554 ที่ผ่านมานั้น ยังคงมีผลต่อเนื่องมายังกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยในบางพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมอย่างหนัก เนื่องจากผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลดังกล่าวได้ชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไปเพื่อรอดูสถานการณ์น้ำในปีนี้ นอกจากนี้ปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้อต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ซื้อที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งเริ่มฟื้นตัวจากน้ำท่วม และต้องมาเผชิญกับวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่ชะลอตัวลง ขณะที่แนวโน้มในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2555 นี้ คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์น่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น แต่ ประเด็นในเรื่องของน้ำท่วมก็ได้กลับมาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยคาดว่าทั้งปี 2555 นี้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะอยู่ที่ประมาณ 145,000-148,000 หดตัวลงร้อยละ 1.0-3.5 เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 18.3 ในปี 2554 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งปี 2555 นี้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทโครงการคอนโดมิเนียมจะยังคงมีอัตราการเติบโต สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีโครงการคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ โครงการคอนโดมิเนียมยังได้รับอานิสงส์จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สอง ขณะที่ตลาดของบ้านแนวราบยังคงหดตัว

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องน้ำท่วมน่าจะยังคงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคจากนี้ต่อไป ซึ่งนอกเหนือจากการที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจเพื่อลดผลกระทบจากเรื่องน้ำท่วมแล้ว ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะต้องหันมาให้ความสำคัญในการวางแผนป้องกันน้ำท่วมอย่างมีระบบมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมทุกปี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง