อุตสาหกรรมก่อสร้างในปีมังกรที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งแบ่งเป็น การก่อสร้างของภาคเอกชนและภาครัฐ เท่ากับ 431,307 ล้านบาท และ 496,633 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 927,940 ล้านบาท (ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 จากเดิมปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 1.6) ด้วยผลจากการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 เป็นหลัก กอปรกับการก่อสร้างของภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด อย่างไรก็ดี การก่อสร้างโดยภาครัฐที่เน้นลงทุนสิ่งจำเป็นพื้นฐาน มีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาเมืองและความเจริญในพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพื่ออยู่อาศัย หรือทำงานมากขึ้น
จึงชี้ให้เห็นว่า โครงการก่อสร้างภาครัฐนั้น มีบทบาทสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยรวมขยายตัว ทั้งนี้ แผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในปีนี้ มีอยู่ 2 กลุ่ม ภายใต้กฎหมายพิเศษ คือ (1) แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามพรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ด้วยกรอบวงเงิน 350,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่กลุ่มบริษัทที่ได้รับคัดเลือกเตรียมเสนอร่างขอบเขตของงาน (Term of Reference: TOR) โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นความก้าวหน้าโครงการก่อสร้าง ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และ (2) แผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว 7 ปี (ช่วง 2556-2563) ด้วยกรอบวงเงินลงทุน 2,270,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่ภาครัฐกำลังจะออก พรบ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ..... ฉะนั้น การลงทุนที่จะเริ่มก่อสร้างจริงภายในปีนี้จากแผนการลงทุนในส่วนนี้อาจยังมีน้อย
ด้วยผลจากการก่อสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งกรณีที่เป็นโครงการที่ต่อเนื่องจากปีก่อน และโครงการที่จะเปิดประมูลในปีนี้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (วงเงิน 80,000 ล้านบาท) บวกกับการขยายตัวของการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน นับเป็นแรงผลักดันสำคัญให้อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยจะยังคงเติบโต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2556 มูลค่าก่อสร้างของไทย จะเติบโตเพิ่มขึ้น ราวร้อยละ 10.5 - 12.9 คิดเป็นมูลค่า 1,025,000 – 1,047,500 ล้านบาท (จากเดิมปีที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 12.8) แบ่งออกเป็นการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนในสัดส่วน 45:55)
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ทั้งค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและค่าวัสดุก่อสร้าง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 3 ซึ่งเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับปีก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจังหวะและช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะนำวิธีการก่อสร้างสำเร็จรูป (Pre-Fabrication) และเลือกวัสดุก่อสร้างแบบสำเร็จมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเพิ่มขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น