Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 พฤศจิกายน 2557

บริการ

ค้าปลีกสมัยใหม่มุ่งรุกทุกพื้นที่ศักยภาพ ... Fast & Smart Moves คือ กุญแจความสำเร็จ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2553)

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ในปี 2557 น่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.6 (YoY) และคาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.0-10.0 (YoY) ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ ยังคงมีแผนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ในต่างจังหวัด เนื่องจากมองเห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในต่างจังหวัดในระยะข้างหน้า จากปัจจัยหนุนทางด้านการเติบโตของความเป็นเมือง (Urbanization) และการค้าชายแดนที่น่าจะกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
สำหรับจังหวัดที่น่าจะกลายเป็นพื้นที่ศักยภาพใหม่ในระยะข้างหน้า น่าจะเป็นกลุ่มจังหวัดเมืองเศรษฐกิจรอง อาทิ นครศรีธรรมราช พิษณุโลก นครสวรรค์ อุดรธานี และอุบลราชธานี รวมถึงกลุ่มจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน อาทิ เชียงราย หนองคาย สระแก้ว มุกดาหาร และตราด ซึ่งไม่เพียงแต่รองรับกับกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงโอกาสในการรองรับกับกลุ่มผู้บริโภคจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชาที่กำลังซื้อมีแนวโมขยายตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งสินค้าของไทยยังเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้อีกด้วย ในขณะที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล การขยายร้านค้าปลีกขนาดใหญ่น่าจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการหาพื้นที่ที่เหมาะสม ในขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก รวมถึงร้านค้าสินค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store) ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ที่คาดว่า จะมีที่พักอาศัยเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ รวมถึงบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกและปริมณฑล อย่างไรก็ดี คาดว่าสัดส่วนของมูลค่า GDP ค้าปลีกค้าส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เทียบกับในต่างจังหวัดจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจาก 60:40 ในปี 2553 เป็น 55:45 ในปี 2558
ทั้งนี้ รูปแบบของร้านค้าปลีกที่จะเข้าไปขยายการลงทุนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและระดับรายได้ของผู้บริโภคในจังหวัดนั้นๆ นอกจากนี้ ในแต่ละรูปแบบร้านค้าอาจจะต้องนำปัจจัยเสริมมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ยกตัวอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้าอาจจะนำปัจจัยทางด้านจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ประกอบการพิจารณาการขยายสาขา เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งกิจกรรมการ Shopping ยังถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว หรือหากเป็นร้านค้ากลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตอาจจะให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านความหนาแน่นของประชากรเป็นหลัก เนื่องจาก ไฮเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่จะขยายสาขาครอบคลุมพื้นที่เกือบทุกจังหวัดแล้ว แต่ในบางจังหวัดยังสามารถรองรับกับจำนวนประชากรเพิ่มได้อีก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของธุรกิจค้าปลีกทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นำมาซึ่งโจทย์ที่ท้าทายของผู้ประกอบการค้าปลีก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินธุรกิจค้าปลีกนับจากนี้ไป อาจจะต้องเป็นอะไรที่มากกว่าการซื้อ-ขายสินค้าผ่านหน้าร้านเพียงอย่างเดียว แต่นั่นหมายถึง ;การดำเนินธุรกิจที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ก่อนและสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคได้ตรงจุด (Fast & Smart Moves)” ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของร้านค้าปลีกที่หลากหลาย อาทิ E-Commerce กลยุทธ์ทางการตลาดที่แตกต่างและเข้มข้น อาทิ Exclusive Products หรือแม้แต่การให้บริการเสริมต่างๆ ที่ครบวงจร (One-Stop Services) อาทิ Drive Thru E-Payment จนทำให้ผู้บริโภครู้สึกพึงพอใจ และอยากที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำ ซึ่งกลยุทธ์การแข่งขันดังกล่าวนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเลือกให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ทั้งทางด้านประชากร กำลังซื้อ รวมถึงการตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ ด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ