Display mode (Doesn't show in master page preview)
  • Error loading navigation: TermStore not found

18 ธันวาคม 2557

พลังงาน

การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ...ภาครัฐเน้นดูแลไม่ให้กระทบราคาขายปลีกหรือต้นทุนของภาคประชาชน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2570)

คะแนนเฉลี่ย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 16 ธันวาคม 2557 เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ด้วยการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บสำหรับน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้นเป็น 3.25 บาท/ลิตร จากเดิม 0.75 บาท/ลิตร ซึ่งเมื่อดำเนินการควบคู่กับการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงจากเดิมที่ 4.50 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 1.75 บาท/ลิตร ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 26.89 บาท/ลิตร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ช่วงเวลานี้ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เป็นจังหวะที่เอื้อต่อการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันโดยไม่ให้กระทบต้นทุนของภาคธุรกิจและครัวเรือน ขณะที่ แนวทางการดำเนินการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของภาครัฐในระยะอันใกล้ต่อไป ก็น่าจะทำให้ราคาขายปลีกสำหรับน้ำมันชนิดอื่นไม่ขยับหรืออาจลดลงเล็กน้อยจากระดับราคา ณ ปัจจุบัน

ในระยะข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 หากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันและเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คงอยู่ในอัตราปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะเป็นบวกเพิ่มขึ้นไปที่ระดับประมาณ 40,000 ล้านบาทภายในครึ่งแรกของปี 2558 ซึ่งก็ถือได้ว่าค่อนข้างมั่นคงในระดับหนึ่ง โดยหลังจากที่คำนึงถึงส่วนที่จำเป็นต้องกันไว้สำหรับการสนับสนุนพลังงานทดแทนผ่านการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมัน E85 แล้ว ภาครัฐอาจพิจารณาความจำเป็นว่าจะต้องปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตกลับไปสู่ระดับ 5.31 บาท/ลิตรตามเดิมหรือไม่ ซึ่งถ้าพบว่ายังไม่มีความจำเป็น ก็อาจจะพิจารณาปรับลดราคาขายปลีกลงแทนได้

นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตและเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ปัจจุบัน หากภาครัฐยังมีแนวทางในการดูแลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเคลื่อนไหวอยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาครัฐหรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ปรับขึ้นจนทะลุระดับ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล

ดังนั้น ในระยะต่อไปเมื่อสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีความมั่นคงเพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว ก็เชื่อว่าภาครัฐจะส่งผ่านผลบวกจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องมาสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือน หรือหมายความว่า ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศจะมีโอกาสปรับลดลงได้อีก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ราคาน้ำมันในประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


พลังงาน