การใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าของไทย ท่ามกลางราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ยังให้ภาพที่ไม่เลวร้ายมากนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า มูลค่าการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าของไทยในช่วงปี 2559-2561 น่าจะอยู่ที่ราว 1.1-1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด รองลงมาคือ พลังงานลม ชีวมวลและขยะ ตามลำดับ ส่วนในระยะถัดไปจนถึงปี 2579 หรือสิ้นสุดแผน PDP 2015 (ปี 2562-2579) คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าถึง 5.35 แสนล้านบาท
โดยตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2559 อาจจะเห็นภาพการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ภายหลังจากที่มีการปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ทำให้โครงการที่ได้รับคัดเลือกสามารถเดินหน้าผลิตไฟฟ้าได้ ส่วนในระยะต่อไป คาดว่า กลุ่มพลังงานขยะและพลังงานลม เป็นกลุ่มที่น่าจับตาว่าจะมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตยังอยู่ห่างไกลเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ ความท้าทายและประเด็นที่น่าจับตาสำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนในระยะข้างหน้า คือ การอุดหนุนจากภาครัฐในรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FIT) อาจมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง จุดนี้น่าจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้กระแสไฟฟ้ามากขึ้นกว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีการบริหารจัดการฝั่งของต้นทุน เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น