Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 ตุลาคม 2558

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ช่วยกระตุ้นตลาดในโค้งสุดท้ายปี 2558 ... ช่วยปรับสมดุลของจำนวนที่อยู่อาศัยรอการขายในตลาดลดลง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2666)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยกำลังประสบภาวะชะลอตัว และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมากขึ้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลง และสถาบันการเงินระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากสถานการณ์ดังกล่าว มีผลทำให้กิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยชะลอลง ซึ่งมีผลต่อเนื่องมายังจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายทั้งที่สร้างเสร็จและกำลังก่อสร้างสะสมเพิ่มขึ้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และช่วยบรรเทาผลกระทบในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ มาตรการทางการเงิน คือ มาตรการผ่อนปรนเรื่องการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย มาตรการลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อที่อยู่อาศัย และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้เหลือร้อยละ 0.01 และมาตรการทางภาษี สำหรับผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก เพื่อเป็นการซื้ออยู่อาศัยจริงในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถนำวงเงินร้อยละ 20 ของมูลค่าที่อยู่อาศัย มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นระยะเวลา 5 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์นี้ นอกจากจะช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัย และช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น ยังจะช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการปรับสมดุล เนื่องจากปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างเหลือขายสะสมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2558 นี้ มีบรรยากาศดีขึ้นจากที่เคยซบเซามาในช่วงก่อนหน้า ผู้ประกอบการคงจะเร่งทำการตลาดอย่างเข้มข้น เพื่อเร่งระบายสินค้าค้างขาย ขณะเดียวกัน ผู้ที่กำลังสนใจซื้อที่อยู่อาศัยน่าจะเร่งโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเร็วขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการดังกล่าวนี้น่าจะช่วยให้กิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยกลับมาดีขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 4 นี้ น่าจะมีประมาณ 35,900 หน่วย เติบโตประมาณร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดีขึ้นกว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ที่คาดว่าจะหดตัวประมาณ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีประมาณ 76,500 หน่วย อย่างไรก็ดี คาดว่า ทั้งปี 2558 นี้ อาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 6.5 หากไม่มีมาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในระยะข้างหน้า ก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อที่อยู่อาศัยในระยะถัดไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง