Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 พฤศจิกายน 2558

บริการ

บริการ 4G…ดันยอดใช้บริการข้อมูลปี'59 เติบโตกว่า ร้อยละ 20 มูลค่าตลาดทะลุ 130,000 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2673)

คะแนนเฉลี่ย

การให้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการผ่านโครงข่าย 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ซึ่งมีปริมาณคลื่นความถี่อยู่เพียง 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต ทำให้เกิดความไม่เพียงพอต่อการรองรับการใช้งานบริการสื่อสารข้อมูลไร้สายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 และวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ตามลำดับ น่าจะเป็นการตอบโจทย์ทางธุรกิจในการต่อยอดการใช้งานการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง ทั้งในด้านปริมาณคลื่นความถี่ รวมไปถึงการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการจากแผนที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ชนะการประมูลจะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาเปิดให้บริการบนเทคโนโลยี 4G ซึ่งมีเสถียรภาพในการใช้งานและความเร็วที่สูงกว่าเทคโนโลยี 3G อยู่ราว 4-5 เท่า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระยะแรกของการเปิดให้บริการ 4G ผู้ประกอบการน่าจะทำการตลาดสำหรับการให้บริการ 4G เพื่อแย่งความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และทำการออกโปรโมชั่นแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการใช้บริการข้อมูลในระดับสูง ส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่จะเปลี่ยนมาใช้บริการ 4G ในระยะแรก คือ กลุ่มที่ชื่นชอบและติดตามเทคโนโลยี และยังพอมีกำลังซื้อสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตรุ่นใหม่ที่รองรับ 4G ซึ่งคาดว่าจะกระจุกตัวตามกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไป เมื่อเศรษฐกิจทยอยปรับตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีผู้เข้ามาใช้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่าย 4G เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมน่าจะทำการตลาดสำหรับการให้บริการ 4G เพื่อดึงดูดผู้บริโภคโดยทั่วไปมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวมักมีการพิจารณาถึงอัตราค่าใช้บริการเป็นสำคัญ โดยอัตราค่าให้บริการ 4G ทั้งในด้านการให้บริการเสียงและข้อมูลได้มีการถูกกำหนดให้เรียกเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าการให้บริการ 3G ส่งผลให้ผู้บริโภคโดยทั่วไปตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะเปลี่ยนมาใช้บริการ 4G

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โดยภาพรวมของปี 2559 จะมีผู้เข้าใช้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งที่ผ่านโครงข่าย 3G และ 4G ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าใช้บริการสูงถึง 38.4 – 39.7 ล้านคน ขยายตัวในกรอบร้อยละ 11.0 – 14.7 จากปี 2558 คิดเป็นอัตราการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตราวร้อยละ 60.4 – 62.6 ของประชากรทั้งหมด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดให้บริการ 4G ในคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz จะก่อให้เกิดอานิสงส์โดยตรงต่อธุรกิจหลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจวางโครงข่าย ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างการให้บริการข้อมูล ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟน อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดอานิสงส์ทางอ้อมในอีกหลายธุรกิจ เช่น การผลิตซอฟต์แวร์ ตลาด E-Commerce การให้บริการศึกษาออนไลน์ และการให้บริการบันเทิงออนไลน์ เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ