Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มิถุนายน 2549

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

แนวโน้มการลงทุนด้านการก่อสร้าง ... อาจซบเซาตลอดช่วงปี 2549 ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกปี 2550

คะแนนเฉลี่ย
ในไตรมาสแรกของปี 2549 การลงทุนในด้านการก่อสร้างยังคงมีอัตราการขยายตัวต่ำที่ประมาณร้อยละ 4 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม นับจากครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา แต่เป็นที่สังเกตว่าในไตรมาสแรก การก่อสร้างของภาคเอกชะลอตัวลงอย่างมาก มีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี ขณะที่การก่อสร้างของภาครัฐยังขยายตัวได้พอสมควรที่อัตราร้อยละ 5.6 โดยสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างของภาคเอกชนชะลอลงมากกว่าที่คาด ที่สำคัญเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะและค่าโดยสารสาธารณะที่ปรับสูงขึ้นในช่วงปีนี้ อาจทำให้ครัวเรือนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้นถึง 62,000 ล้านบาท (ประมาณร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยรวม) ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงการตัดลดค่าใช้จ่ายในส่วนของสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพน้อย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการก่อสร้างในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2549 อาจจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้น โดยอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเผชิญปัญหาที่สำคัญคือราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยยังอาจปรับสูงขึ้นได้อีกในไตรมาสที่สาม และอาจทรงตัวในระดับที่สูงไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยังจะส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆของภาคเอกชนไทยและการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ปัญหาทางการเมืองยังส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการประกาศใช้พรบ.งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2550 ซึ่งคาดว่าจะเห็นการชะลอตัวของการลงทุนในการก่อสร้างภาครัฐอย่างชัดเจนขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาสสี่ ปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่

สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลบวกบ้างต่อกิจกรรมการก่อสร้างในช่วงปีนี้คือ การที่โครงการจัดสรรหรือโครงการก่อสร้างอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานครพยายามเร่งเดินหน้าก่อสร้างโครงการเพื่อเลี่ยงการที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดของกฎระเบียบบางประเด็นที่ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น แต่ผลกระตุ้นนี้คงจะไม่ช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมการก่อสร้างโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเท่าไรนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศอาจมีมูลค่าประมาณ 693,000 ล้านบาทในปี 2549 เทียบกับมูลค่า 657,484 ล้านบาทในปี 2548 คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี โดยการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4 (ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 6-8 จากการที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาด) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 357,000 ล้านบาท เทียบกับที่มีมูลค่า 327,395 ล้านบาทในปี 2548 ขณะที่ภาวะหยุดชะงักของการเริ่มต้นใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณใหม่ อาจส่งผลให้การลงทุนของภาครัฐอาจหดตัวลงร้อยละ 3 โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 337,000 ล้านบาท เทียบกับ 330,089 ล้านบาทในปี 2548 ซึ่งมูลค่าการลงทุนที่สูงขึ้นเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงระดับราคาสินค้า (Deflator) แต่ผลในเชิงปริมาณของการก่อสร้างอาจจะหดตัวลง

สำหรับแนวโน้มในปี 2550 การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนมีแนวโน้มที่อาจปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยบวกอาจมาจากการอ่อนตัวลงของภาวะเงินเฟ้อ ตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ซึ่งก็อาจส่งผลดีต่อเนื่องไปสู่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับลดลงด้วย นอกจากนี้ ถ้าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลง ก็น่าจะสนับสนุนให้ความมั่นใจของนักลงทุนกลับคืนมา ภายใต้ข้อสมมติดังกล่าว คาดว่าการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจปรับตัวดีขึ้นมาขยายตัวร้อยละ 6 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากการทิศทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ที่สำคัญคือความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาลของสหรัฐอันอาจสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินตลาดทุนของโลก รวมทั้งหากอุปสงค์ในสหรัฐชะลอตัวรุนแรงก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของกลุ่มประเทศเอเชีย สำหรับการลงทุนของภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปีคงลดลงในอัตราที่สูง ตามงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐที่ขาดช่วงไป จากความล่าช้าของการออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ส่งผลให้การก่อสร้างภาครัฐตลอดทั้งปี 2550 อาจหดตัวลงประมาณร้อยละ 10 และมีผลทำให้การลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมในปี 2550 อาจมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่หดตัวลงประมาณร้อยละ 1.3 ซึ่งถ้าเป็นเช่นกันจะเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่การลงทุนในด้านการก่อสร้างมีอัตราการขยายตัวที่ติดลบ

อย่างไรก็ตาม ถ้าแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือเมกะโปรเจ็กต์สามารถมีความคืบหน้าได้อย่างจริงจังหลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศอย่างมีเสถียรภาพ ภาวะการก่อสร้างน่าจะกลับมาสู่วงจรช่วงขาขึ้นอีกครั้ง โดยคาดว่าอาจขยายตัวในระดับสูงกว่าร้อยละ 10 ในช่วงปี 2551-2552

สำหรับแนวโน้มต้นทุนค่าก่อสร้างในช่วงปีนี้น่าจะปรับสูงขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ยอาจปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 ในปี 2549 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 0.0 ในปีก่อน ขณะที่ต้นทุนอื่นๆ หากพิจารณาจากดัชนีราคาผู้ผลิตอาจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6-8 ต่ำกว่าร้อยละ 9.2 ในปีก่อน ซึ่งคงจะส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าต้นทุนการก่อสร้างโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 ในปี 2548

จากความผันผวนทางธุรกิจที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะตลาดหรือภาวะต้นทุนก็ตาม เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการในธุรกิจก่อสร้างจะต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนและการบริหารสภาพคล่องในช่วงที่ภาวะตลาดชะลอตัว ขณะเดียวกันก็ควรเตรียมพร้อมในด้านแผนการลงทุนและติดตามทิศทางแนวโน้มตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของปริมาณงานก่อสร้างในระยะข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง