Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤศจิกายน 2549

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในโค้งสุดท้ายของปี 49...เร่งแข่งออกผลิตภัณฑ์จูงใจผู้ซื้อบ้าน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1921)

คะแนนเฉลี่ย
ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 3 ปี 49 นั้น มีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง โดยมีมูลค่า 1,313,500 ล้านบาท ขยายตัว 11.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัว 13.82% ในไตรมาส 2 และลดลงจากที่ขยายตัว 15.69% ในปี 48 สำหรับยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2549 มีมูลค่า 675,700 ล้านบาท ขยายตัว 12.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากที่ขยายตัว 14.19% ในไตรมาส 2 และลดลงจากที่ขยายตัว 14.67% ในปี 48 ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2548 ตลาดที่อยู่อาศัยมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยลบในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในขณะนี้จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบในการวางแผนการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น จึงส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยให้ชะลอออกไป เพื่อรอดูทิศทางของเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์รวมถึงสถาบันการเงินต่างพยายามออกผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยในรูปแบบต่างๆเพื่อกระตุ้นให้การตัดสินใจของผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยให้ตัดสินใจเร็วขึ้น ทำให้การแข่งขันธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลังของปี 49 เริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั้งระบบในปี 2549 น่าจะขยายตัวที่ประมาณ 10-12% หรือมีมูลค่าประมาณ 1,333,747 - 1,357,967 ล้านบาท จาก 1,212,497 ล้านบาท ในปี 2548
บทสรุปและข้อคิดเห็น
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสสุดท้ายของปี 49 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คงจะมีความเข้มข้นมากขึ้น สถาบันการเงินต่างๆน่าจะมีการจัดแคมเปญและกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นตลาดสินเชื่อ เพื่อขยายฐานสินเชื่อในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้การทำการตลาดจะเป็นไปในรูปของการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยในแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษที่แตกต่างกัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ตามความต้องการ โดยคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของลูกค้าเป็นหลักด้วย อีกทั้งการลดค่าธรรมเนียม การแจกของรางวัลและร่วมส่งชิงรางวัล จะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายการตลาดมากขึ้นในช่วงนี้ด้วย เพราะถึงแม้ว่าดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของลูกค้าสินเชื่อบ้านเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ในสายตาของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว ปัจจัยที่รองลงไปนับวันก็ยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น อาทิ การบริการ การสามารถอำนวยความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการให้บริการให้แก่ลูกค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของลูกค้าได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ในแง่ของธนาคารพาณิชย์เองแล้ว การแข่งขันด้านราคาย่อมจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร ธนาคารพาณิชย์จึงเสนอทางเลือกอื่นๆในการสร้างความพอใจให้ลูกค้าโดยหันมาใช้รายการส่งเสริมการขายอื่นๆเพื่อสร้างความเข้มข้นในการแข่งขัน
ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะได้ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหลายประการ เพื่อช่วยขยายสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การเสนออัตราดอกเบี้ยหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันของสินเชื่อเพื่อดึงดูดใจผู้ขอสินเชื่อก็ตาม แต่การบริหารความเสี่ยงก็ยังคงมีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร โดยธนาคารยังคงความเข้มงวดในการกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อควบคุมคุณภาพของสินเชื่อ อาทิ นโยบายการให้บริการข้อมูลการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อเข้าใจถึงกลไกที่เกี่ยวข้องในระบบสินเชื่อ นโยบายตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอกู้สินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงที่เหลือของปี 49 นี้ ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงน่าจะชะลอลง โดยสาเหตุน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากผู้ซื้อมีความกังวลในเรื่องของรายได้อนาคตจึงยังอาจไม่กล้าตัดสินใจ ในทางตรงกันข้ามหากเศรษฐกิจในปีหน้าจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และปัจจัยลบที่ผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์เริ่มผ่อนคลายลงในทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อความมั่นคงทางรายได้ของตนในอนาคตมากขึ้น
สำหรับประเด็นที่น่าจะเป็นข้อพิจารณาสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้า ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลงในช่วงปีหน้า ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งอาจจะชะลอตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อรอดูทิศทางดอกเบี้ยให้มีความแน่ชัดก่อน แม้ว่าทางธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ จะได้ออกผลิตภัณฑ์ ที่มีรูปแบบอัตราดอกเบี้ยที่หลากหลายมาในตลาดในขณะนี้แล้วก็ตาม
นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านทำเลของโครงการที่อยู่อาศัย ที่มีโครงการรถไฟฟ้าตัดผ่าน ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ทำเลที่เป็นที่นิยมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยคงจะหนีไม่พ้น ทำเลที่จะมีโครงการรถไฟฟ้าตัดผ่าน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีการพูดถึงความเป็นไปได้ในในการที่จะมีการดำเนินการเรื่องรถไฟฟ้าถึง 5 เส้นทางแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามผู้ซื้อยังคงต้องติดตามถึงความแน่ชัดของโครงการซึ่งน่าจะออกมาในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคมปีหน้า ซึ่งทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งอาจจะต้องการรอดูความชัดเจนในเส้นทางรถไฟฟ้าก่อนทำการตัดสินใจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง