Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤษภาคม 2550

อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2550: ชะลอตัวตามตลาดอสังหาฯ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1968)

คะแนนเฉลี่ย

จากการที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่ออำนาจการซื้อและการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในขณะนี้จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบในการวางแผนการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ซื้อจะใช้เงินออมของตนเองส่วนหนึ่งสำหรับเงินดาวน์ก้อนแรกหรือการผ่อนดาวน์ อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ระยะเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถของผู้ขอสินเชื่อ วงเงินที่ขอ รวมถึงประเภทที่อยู่อาศัย โดยกรณีที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวสถาบันการเงินอาจกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระให้ได้ถึง 20 ปี หรือมากกว่านั้น แต่สำหรับที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมมีระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 15 ปี เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการซื้อที่อยู่อาศัยนั้น ผู้ซื้อจะมีภาระผูกพันในการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงินเป็นระยะเวลานาน ที่ผ่านมาสถาบันการเงินต่างทำแคมเปญ ออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อดึงดูดให้ผู้ที่กำลังวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยตัดสินใจเร็วขึ้น หรือบริการเสริมเพื่อเพิ่มคุณค่าในการบริการให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่หลายสถาบันการเงินเสนอให้แก่ลูกค้าควบคู่กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย คือ การประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นประกันที่คุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร อย่างไรก็ตามการขยายตัวของธุรกิจประสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2549 ที่ผ่านมา ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยยอดประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทเบี้ยประกันจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) ในปี 2549 มีจำนวนประมาณ 6,631 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 42.4 ในปี 2548

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจจะไม่หวือหวาเหมือนกับธุรกิจประกันประเภทอื่น ทั้งนี้คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์น่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2550 เนื่องมาจากปัจจัยลบต่างๆ ส่งผลกระทบต่ออำนาจการซื้อและการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ทำให้ฐานตลาดสำหรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยและธุรกิจประสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงตามไปด้วย และการที่สถาบันการเงินมีมาตรการที่ระมัดระวังต่อการอนุมัติสินเชื่อทำให้ธุรกิจประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตามไปด้วย ทั้งนี้ช่องทางการตลาดของธุรกิจประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเสนอผลิตภัณฑ์ควบคู่ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการร่วมมือกับบริษัทประกัน หรือบริษัทในเครือของสถาบันการเงินนั้นๆ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทเบี้ยประกันจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) ในปี 2550 น่าจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 3.5-4.5 หรือมีมูลค่าประมาณ 6,865 - 6,930 ล้านบาท จาก 6,631 ล้านบาท หรือ ชะลอลงจากที่ขยายตัว 4.8% ในปี 2549 เนื่องจากคาดว่าสินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งระบบในปี 2550 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 239,452 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 8.8 จากปี 2549 ที่มีมูลค่า 262,638 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายที่อยู่อาศัยในปีนี้ น่าจะยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2550 คงจะเน้นไปในเรื่องของการขยายฐานลูกค้า โดยการใช้ช่องทางการตลาดในรูปแบบของการจับมือร่วมกับสถาบันการเงิน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทยรายใหญ่ทำการตลาดร่วมกับบริษัทในเครือของตนเอง ในกรณีธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลางจะเป็นการจับมือกับร่วมกับบริษัทประกันภัย การทำการตลาดรูปแบบนี้ทำให้บริษัทประกันสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและสะดวก เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นลูกค้าใหม่ที่เข้ามาขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงิน โดยผ่านทางสาขาของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินเองมีความต้องการที่จะให้ลูกค้าทำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาวของผู้ขอสินเชื่อ อีกทั้งเป็นหลักประกันความเสี่ยงในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ

แม้ว่าผลิตภัณฑ์ประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะมีประโยชน์ในหลายด้าน แต่จุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ในการส่งเสริมการตลาดคือ ภาระค่าใช้จ่าย กล่าวคือ การประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทนี้เป็นประเภทเบี้ยกินเปล่า เมื่อลูกค้าผ่อนชำระสินเชื่อแก่สถาบันการเงินเสร็จสิ้น ผู้เอาประกันหรือผู้ขอสินเชื่อจะไม่ได้รับเงินสะสมใดๆ หรือเงินจ่ายคืนแก่ผู้เอาประกัน อีกทั้งผู้ขอสินเชื่อยังคงมีความเสี่ยงในการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง หรือธุรกิจส่วนตัวประสบกับสภาพคล่อง จนไม่สามารถที่จะผ่อนชำระสินเชื่อต่อไปได้อีก ผู้ขอสินเชื่อก็จะยังคงต้องรับภาระความเสี่ยงในการสูญเสียที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ขอสินเชื่อบางรายจึงยังคงเลือกที่จะลงทุนทางการเงินประเภทอื่นที่สามารถให้ผลตอบแทนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ที่มั่นคงและมีการวางแผนการการทางการเงินในอนาคตที่ดีอยู่แล้ว จึงอาจจะยังไม่ให้ความสำคัญในการที่จะทำประกันประเภทนี้

ทั้งนี้การขยายฐานลูกค้าอาจอาศัยจุดเด่นของประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงของลูกค้า โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่นกลุ่มที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มลูกค้าที่มีครอบครัวแล้ว และต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัวในอนาคต อย่างไรก็ดีการทำการตลาดประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างเป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยเฉพาะโจทย์สำคัญของบริษัทประกันในการที่จะพยายามสร้างจุดขายและทัศนคติที่ดีให้ผู้ที่เข้ามาขอสินเชื่อเห็นถึงประโยชน์ในการทำประกันชนิดนี้ นอกจากนี้การนำเสนอผลิตภัณฑ์รูปแบบที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับคุณสมบัติและความแตกต่างของกลุ่มลูกค้า ก็น่าที่จะดึงดูดให้มีการทำประกันชนิดนี้เพิ่มขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง