ภาวะการก่อสร้างภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาของปี 2550 มีทิศทางชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 การลงทุนในด้านการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2549 และถ้าพิจารณาถึงการก่อสร้างของภาคเอกชนซึ่งสะท้อนการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นได้ว่าหดตัวลงร้อยละ 1 โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันตลอด 2 ไตรมาสแรกของปี และเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 สภาวะดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยลบที่ส่งผลกดดันต่อภาวะอุปสงค์ โดยเฉพาะปัจจัยในด้านความเชื่อมั่นต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมทั้งการขยายการลงทุนของภาคธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาวะการก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แต่เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งต่างประเทศและในประเทศที่ต้องจับตามอง ปัจจัยในต่างประเทศได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐจากผลกระทบของปัญหาวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ รวมทั้งทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญได้แก่สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นยังคงมีผลต่อความมั่นใจในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 การก่อสร้างภาครัฐจะมีอัตราการขยายตัวลดลงหรือใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากยังไม่มีโครงการใหม่เริ่มต้นดำเนินการมากนัก แต่การก่อสร้างภาคเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้เล็กน้อย ส่งผลให้การก่อสร้างโดยรวมจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.4-4.4 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ดีขึ้นกว่าในครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 2.2
สำหรับภาพรวมแนวโน้มในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการก่อสร้างมีโอกาสฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสถียรภาพพอสมควรและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบขยายตัว และผลักดันการลงทุนในโครงการของรัฐให้มีความคืบหน้า ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และแนวโน้มผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐที่จะกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและภาคการส่งออกของไทย ขณะที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าวัตถุดิบในตลาดโลกยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้
โดยภาพรวมคาดว่าในปี 2551 การก่อสร้างภาคเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้นมามีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-8.0 จากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3-1.0 ในปี 2550 การก่อสร้างของภาครัฐน่าจะมีความคืบหน้าของโครงการลงทุนสำคัญ ทำให้มีอัตราการขยายตัวดีขึ้นมาที่ประมาณร้อยละ 6.3-9.7 จากคาดการณ์การขยายตัวในระดับร้อยละ 4.4-5.7 ในปี 2550 ส่งผลให้การก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวประมาณ 5.1-8.8 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3-3.3 ในปี 2550
สำหรับแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้าง อาจปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าในปี 2550 ที่คาดว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 เนื่องจากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างน่าจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอาจเผชิญความผันผวน โดยแม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ความต้องการสินค้าวัตถุดิบโลหะในประเทศจีนและอินเดียยังมีแนวโน้มขยายตัวสูง ตามการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อาจกระตุ้นให้กองทุนต่างชาติหันมาเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้อีก
ปริมาณงานก่อสร้างภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นน่าจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสตลาดในต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก นอกจากนี้ตลาดงานก่อสร้างในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาก็มีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายโอกาสในการสร้างรายได้จากต่างประเทศในภาคบริการแล้ว ยังเป็นก้าวย่างสำคัญในการยกระดับศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจก่อสร้างของไทยให้มีมาตรฐานการดำเนินงานในระดับสากล ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโอกาสและความท้าทายที่จะมาพร้อมกับการเปิดเสรีภาคการบริการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างด้วย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น