Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มีนาคม 2565

บริการ

สัญญาณการชะลอลงของเครื่องชี้การใช้บริการช่วงต้นปี … โจทย์ท้าทายธุรกิจ Food Delivery (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3313)

คะแนนเฉลี่ย

​แม้ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) น่าจะยังได้รับแรงหนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังสูงและสถานประกอบการยังใช้ระบบการทำงานแบบ Hybrid Work ประกอบกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและร้านอาหารยังคงทำการตลาดและอัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการสั่งอาหารควบคู่ไปกับการขยายการใช้งานไปยังผู้ใช้งานใหม่ๆ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักในปี 2565 มีแนวโน้มเผชิญโจทย์ท้าทายมากขึ้น หลังในช่วงต้นปี 2565 เริ่มปรากฏสัญญาณที่สะท้อนถึงการปรับตัวในพฤติกรรมของผู้บริโภคในด้านความถี่ ราคา และประเภทอาหารที่สั่ง และหากมองต่อไปในช่วงข้างหน้ายังมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเพิ่มเติมด้วย

โดยการปรับราคาอาหารและค่าจัดส่งของผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจ Food Delivery คงทำได้จำกัด ท่ามกลางต้นทุนที่เร่งตัวขึ้น จากราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ความระวังการใช้จ่ายและการใช้บริการแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหารของผู้บริโภค ที่น่าจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี เพื่อรับมือกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวลงของคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะในร้านอาหารประเภทเครื่องดื่ม ขนมหวานและเบเกอรี่ ร้านในแพลตฟอร์มที่เน้นการให้บริการนั่งทานในร้าน (ปิ้งย่าง สุกี้/ชาบู บุฟเฟต์) กลุ่มอาหารที่มีราคาระดับกลาง-สูง (ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารยุโรป ร้านสเต็ก) ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้บริโภคกลับไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ขณะเดียวกัน การแข่งขันทางธุรกิจยังเข้มข้น โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยังจำเป็นต้องทำการตลาดเพื่อจูงใจผู้บริโภค รวมถึงดึงดูดร้านอาหารที่มีชื่อเสียงให้เข้ามาอยู่บนระบบตนอย่างต่อเนื่อง

จากความท้าทายข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า จำนวนการสั่งซื้อในช่วงครึ่งแรกปี 2565 อาจจะให้ภาพที่ไม่เร่งตัวเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2564 เท่าใดนัก แต่คงจะขยายตัวได้ราวร้อยละ 19 (YoY) จากปัจจัยเรื่องฐานที่ต่ำในช่วงปีก่อน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ