Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 เมษายน 2563

บริการ

ค้าปลีกปี’ 63 คาดหดตัวสูง 5-8% … ผู้ประกอบการเผชิญโจทย์ท้าทายมากขึ้นหลังโควิด-19 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3102)

คะแนนเฉลี่ย

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แผนการทยอยปลดล็อคมาตรการ Lockdown ของภาครัฐ ซึ่งร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะเปิดบริการวันที่ 3 พ.ค. 63 และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดบริการ 1 มิ.ย. 63 นั้น แม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกมีโอกาสกลับมาสร้างรายได้ผ่านช่องทางหน้าร้านอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกหลังจากนี้ โดยเฉพาะ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแรงต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อมาช่วยได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งความไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย หากโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลและอาจจะออกมาใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้ง Modern trade และ SMEs จำเป็นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัยต่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยเฉพาะด้านราคายังคงมีความสำคัญ แต่ผู้ประกอบการค้าปลีกอาจจะต้องพิจารณาถึงจังหวะและความคุ้มค่าในการทำการตลาดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ขณะเดียวกัน กลุ่มร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ให้เช่าโดยเฉพาะ Modern trade มาตรการดูแลช่วยเหลือหรือเยียวยาในฝั่งของผู้เช่ารายย่อย (พ่อค้า-แม่ค้าที่เช่าพื้นที่ขายภายในศูนย์การค้า) ก็ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องทำต่อไปอีกสักระยะ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะการปรับลด หรืองดการขึ้นค่าเช่า การช่วยเหลือในเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัย รวมถึงการช่วยเหลือในเรื่องของการทำการตลาด เป็นต้น

     

                ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานที่ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ภายในครึ่งปีแรก และไม่เกิดการระบาดใหม่ในรอบ 2 ก็น่าจะส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวได้บ้างในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 น่าจะยังคงหดตัวราวร้อยละ 5-8 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อตอนต้นเดือนมีนาคมที่จะหดตัวราวร้อยละ 2.2) โดยเฉพาะค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าที่มีรอบของการเปลี่ยนนาน หรือมีมูลค่าต่อชิ้นสูง (สินค้าไม่จำเป็น/ฟุ่มเฟือย) เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเฉพาะอย่างวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า) น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงและกลับมาฟื้นตัวได้ช้ากว่าค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าจำเป็นพวกอุปโภคบริโภคอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ของกลุ่มค้าปลีกโมเดิร์นเทรด ผู้ผลิตสินค้า และ Social Commerce

อย่างไรก็ดี ผลกระทบหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ได้ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในระยะข้างหน้าซึ่งธุรกิจค้าปลีกก็ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมาก หลังจากที่ผู้บริโภคมีการเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ๆ จนเกิดความเคยชิน และกลายเป็นเรื่องปกติ (New normal) โดยเฉพาะการหันมาซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น และกล้าที่จะซื้อสินค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่างอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคในช่องทางนี้มากขึ้น และพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้น่าจะยังคงมีอยู่ในระยะยาวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกไม่ว่าจะเป็น Modern trade หรือ SMEs ต่างต้องเร่งทบทวนและปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจเข้าหาตลาดออนไลน์มากขึ้นและเร็วขึ้น เนื่องจากการทำการขายผ่านช่องทางหน้าร้านเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะสร้างรายได้หรือไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกอาจจะต้องเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับสินค้าของตนเองและสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ รวมถึงคุณภาพของการให้บริการที่สร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะความสะดวกและปลอดภัยในการชำระเงิน ตลอดจนความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ