Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มิถุนายน 2564

บริการ

ค้าปลีกปี’ 64 คาดหดตัวที่ร้อยละ 2.0 … จุดจับตาสำคัญ คือ การฉีดวัคซีนที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3230)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยคาดว่า ยอดขายค้าปลีกทั้งปีจะยังหดตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม จุดที่ต้องจับตา คือ การฉีดวัคซีนในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ (มิ.ย.-ก.ย.) รวมถึงไม่มีการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงที่เหลือของปีโดยเฉพาะไตรมาส 4 และเมื่อบวกกับมาตรการของภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ายอดค้าปลีกในภาพรวมปี 2564 อาจจะมีทิศทางที่ดีกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน (FMCG)

E-Commerce ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอัดแคมเปญต่างๆ ค่อนข้างมาก เพื่อกระตุ้นยอดขายส่งท้ายปี เช่น เทศกาล 11.11 และ 12.12 อย่างไรก็ดี การแข่งขันในแพลตฟอร์มดังกล่าวน่าจะรุนแรงขึ้นอีก จากจำนวนผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนผู้บริโภคที่มีศักยภาพหรือมีกำลังที่จะจับจ่ายไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะมีผู้ประกอบการทั้งที่อยู่รอดและแข่งขันลำบาก ขณะที่ค้าปลีก Modern trade ที่เน้นจำหน่ายสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ของตกแต่งบ้าน น่าจะยังไม่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกจากการเร่งกระจายวัคซีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและทำให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้แล้ว ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการอาจจะเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของต้นทุนธุรกิจหรือราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโดยปกติธุรกิจการค้าในลักษณะซื้อมาขายไปดูเหมือนไม่น่าจะถูกกระทบ แต่ในยามที่สถานการณ์ไม่ปกติ กำลังซื้อผู้บริโภคเปราะบาง การแข่งขันด้านราคาสูง และผู้ประกอบการมีมากราย การจะผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งหมดไปยังผู้บริโภคเป็นไปได้ยาก ดังนั้น การปรับตัวโดยการลดมาร์จิ้นด้วยการทำการตลาด/​โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้มีกระแสเงินสดเข้ามาหล่อเลี้ยงกิจการ รวมถึงมาตรการที่ช่วยบรรเทาทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการของภาครัฐยังเป็นสิ่งจำเป็นภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ