แนวโน้มราคาเหล็กไทยในปี 2566 คาดว่าจะย่อลงจากปีที่ผ่านมาในกรอบ -10% ถึง -6% YoY ตามราคาเหล็กโลกที่ปรับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นทั้งผู้ผลิต-ผู้บริโภคหลักมีสัญญาณหดตัวของอุปสงค์ ขณะที่ ความต้องการใช้ในประเทศยังให้ภาพที่ระมัดระวัง จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพที่ยังยืนสูงกดดันกำลังซื้อของภาคเอกชน และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2567 ให้ล่าช้าจนกระทบต่อโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ของภาครัฐให้เลื่อนออกไป อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาจะยังยืนสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด จากต้นทุนการผลิต/การจัดการ (ค่าไฟ ค่าแรง และค่าขนส่ง) ในประเทศบางด้านที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลให้กำลังการผลิตเหล็กส่วนเกินของจีนอาจถูกระบายไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย และการพิจารณาต่ออายุการบังคับใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าสำหรับแผ่นเหล็กรีดร้อนจากจีนซึ่งอาจทำให้ราคาเหล็กไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอน
มองไปข้างหน้า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้นและกระแส Net Zero จะกระทบผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทยให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นในกรอบเวลาที่แตกต่างกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้น กลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบก่อนผู้เล่นอื่น ๆ ในห่วงโซ่ ได้แก่ 1) ผู้ผลิตเหล็ก/ผู้ค้าเหล็กที่มีการส่งออกเหล็กไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่จะมีการบังคับใช้มาตรการ CBAM 2) ผู้ผลิตเหล็ก/ผู้ค้าเหล็ก/ผู้ใช้เหล็กที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการใช้เหล็กที่มีการตั้งเป้ามุ่งสู่ Net Zero อย่างชัดเจน โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้กลุ่มผู้เล่นเหล่านี้น่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการต้องจัดซื้อเหล็กวัตถุดิบ/สินค้าเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาผลิตและส่งออกเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด อย่างไรก็ดี ในระยะยาว คาดว่าราคาเหล็กทั่วโลกอาจมีแนวโน้มปรับฐานใหม่ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการปรับปรุงเทคโนโลยี/กระบวนการผลิต ส่งผลให้ทุกผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทยคงหลีกเลี่ยงต้นทุนเหล็กวัตถุดิบ/สินค้าเหล็กที่อาจปรับเพิ่มขึ้นนี้ได้ยาก แม้ว่าช่วงแรกความเร่งด่วนในการปรับตัวอาจยังมีไม่มากและจำกัดเฉพาะกลุ่ม แต่ภาคธุรกิจคงต้องทยอยปรับปรุงกระบวนการผลิตในการลดการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวไว้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น