สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศดีขึ้น เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และในหลายจังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นระยะเวลาหลายวันติดต่อกัน นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน และหากประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ กิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันและธุรกิจก็น่าจะทยอยกลับมาตามลำดับ สำหรับภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ต้องยอมรับว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในห่วงโซ่การท่องเที่ยวอย่างหนัก จากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย
ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวในปีนี้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ทางการผ่อนคลายมาตรการลงเป็นลำดับ สถานที่ท่องเที่ยวและการให้บริการด้านการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างสายการบินที่น่าจะเริ่มเปิดเส้นทางการบินในประเทศมากขึ้น เมื่อประกอบกับการทำกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจากผู้ประกอบการ จะทำให้บรรยากาศและความต้องการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศค่อยๆ กลับมา
แต่เนื่องจากตลาดไทยเที่ยวไทยยังมีหลายปัจจัยลบ อาทิ นักท่องเที่ยวยังมีความกังวลต่อสถากนการณ์โควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากความเชื่อมั่นต่อการมีงานทำและกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชน หลังกิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่หยุดชะงัก จึงทำให้ทั้งปี 2563 ตลาดไทยเที่ยวไทยอาจหดตัวประมาณ 52.3% ถึงหดตัวประมาณ 46.4% หรือมีจำนวน 79.5-89.5 ล้านคน-ครั้ง ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 4.85-5.45 แสนล้านบาท หดตัวประมาณ 55.1% ถึงหดตัวประมาณ 49.4% จากปีก่อน (การประเมินอยู่ภายใต้สมมติฐานที่โควิค-19 ไม่กลับมาระบาดอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้) อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาพเชิงลบของตลาดโดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดนักท่องเที่ยวระดับบน จะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ
อย่างไรก็ดี หลังสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะโจทย์ในการปรับวิถีการดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business Norms) ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น การให้บริการที่ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากโควิด-19 ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่ก็เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายเผชิญกับสภาพคล่องที่จำกัด ทำให้ยังต้องระมัดระวังควบคุมรายจ่ายโดยให้มีผลกระทบต่อการบริการน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสต็อคสินค้า การจ้างงาน หรือการจัดกิจกรรมการตลาดที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น