Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 กันยายน 2564

บริการ

ภาษี e-Service ผลต่อผู้ใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3266)

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่โลกของเศรษฐกิจยุคดิจิทัล จากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในภาคธุรกิจและแม้กระทั่งกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การทำสัญญาทางธุรกิจ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งในและระหว่างประเทศเกิดขึ้นมากมาย และมีแนวโน้มที่จะเข้ามาทดแทนการทำธุรกรรมในวิถีเดิมๆ ทำให้ทางการต้องหาวิธีการประเมินภาษีและออกแบบนโยบายภาษีที่เหมาะสม โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)) ได้มีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าว เป็นรูปแบบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทยที่เดิมไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มีรายได้ปีละ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตราภาษี VAT ของไทยอยู่ที่ 7% ของราคาค่าบริการ และจากการประเมินของทางการคาดว่า การจัดเก็บภาษีนี้จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565

ซึ่งครอบคลุมในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่1. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มประเภทสมัครสมาชิก เช่น บริการสตรีมมิ่งด้านบันเทิง 2. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มประเภทโฆษณาออนไลน์ 3. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งไม่มีแอปพลิเคชั่นเป็นของตนเอง และแบบ P2P 4. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และ 5. แพลตฟอร์มให้บริการรูปแบบเอเยนต์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มจากต่างประเทศนี้ ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือน ภายใต้ระบบ Pay-Only (ห้ามหักภาษีซื้อ) โดยไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและรายงานภาษี

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น และในช่วง 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2567 มูลค่าการใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศในกลุ่มกิจกรรมดังกล่าวคาดว่าอาจจะมีมูลค่าขยับเข้าสู่ 1 แสนล้านบาท หรืออัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) อยู่ที่ประมาณ 10-15% ต่อปี[1] ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีนี้ตามหลักการเพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ และช่วยให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในอีกมุมมองหนึ่งการจัดเก็บภาษีก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจในมิติต่างกัน โดยเฉพาะประเด็นการส่งผ่านต้นทุนภาษีมาให้ผู้ใช้บริการจากผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศอาจจะพิจารณา แต่โดยรวมแล้วก็คงจะไม่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เนื่องความซับซ้อนในบริบทธุรกิจ ทำให้ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศจำเป็นต้องประเมินทุกปัจจัยก่อนที่จะตัดสินใจ มิฉะนั้นอาจจะสูญเสียความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการแข่งขันไปให้กับผู้เล่นอื่นๆ ได้ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อในอนาคต การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาจมีผลให้แนวโน้มการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนโฉมไปได้อีกมากจากปัจจุบัน

 



[1] เป็นการประเมินเบื้องต้น ภายใต้บริบทธุรกิจและเทคโนโลยีปัจจุบันเป็นหลัก​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ