ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2561 ตลาดคนไข้ในประเทศยังคงถูกกดดันจากปัญหากำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึง ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นตลาดคนไทยเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี จากจำนวนผู้สูงอายุไทยยังคงเพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มดังกล่าว แต่เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงนัก ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะตลาดผู้สูงอายุจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนน่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางขึ้นไป หรือมีรายได้ตั้งแต่ 100,000 บาทต่อปีขึ้นไป (ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายจากการช่วยเหลือของบุตรหลาน)
ขณะที่ ตลาดคนไข้ต่างชาติยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่จับตลาดคนไข้ต่างชาติ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปี 2561 จะมีคนไข้ชาวต่างชาติมาใช้บริการรักษาพยาบาลประมาณ 3.42 ล้านครั้ง แบ่งเป็น Medical Tourism ประมาณ 2.5 ล้านครั้ง และกลุ่ม EXPAT ประมาณ 9.2 แสนครั้ง โดยกลุ่มคนไข้ชาวเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เมียนมาและจีน จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นทดแทนกลุ่มคนไข้ตะวันออกกลางที่มีบทบาทลดลง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายรักษาพยาบาลภายในประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อรองรับหรือจูงใจให้คนในประเทศหันมาใช้บริการมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย ประกอบกับแนวโน้มของคนจีนที่เดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยมีโอกาสขยายตลาด Medical Tourism ไปยังกลุ่มลูกค้าจีนมากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการในเรื่องของความงาม (Beauty) ที่คนจีนให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยเองก็ค่อนข้างมีศักยภาพในการแข่งขัน เช่น ศัลยกรรมความงามบนใบหน้า ภาวะมีบุตรยาก รวมถึงบริการทางการแพทย์ที่ไม่ซับซ้อน เช่น ทันตกรรม (Dental) เวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-aging) หรือแม้แต่ตรวจสุขภาพ (Health checks) แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะต้องเผชิญการแข่งขันกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่ม Medical Tourism ชาวจีนเช่นกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรประเมินว่า ในปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยว Medical Tourism ชาวจีนเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีประมาณ 630,000-650,000 ราย ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 40,000 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.0 เท่านั้น ที่เดินทางมาประเทศไทย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น