ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้ ธุรกิจ Last-mile Delivery ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 11.0 ต่อปี หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ 36,000 – 37,000 ล้านบาท ในปี 2563 โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญคือ การเติบโตของยอดขายออนไลน์ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนคนซื้อสินค้าออนไลน์ จำนวนชิ้นและความหลากหลายของสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมูลค่าการซื้อสินค้าออนไลน์ต่อชิ้นสูงขึ้น ซึ่งการเติบโตดังกล่าวก่อให้เกิดความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าที่ซื้อขายผ่านทางช่องทาง E-Commerce มากขึ้นขณะที่ภาพการแข่งขันของธุรกิจน่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคาที่เข้มข้นของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้รายอื่นๆ ต้องปรับลดราคาตาม เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเลือกใช้บริการตนเอง ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดที่มีเงินทุนไม่สูง หรือสายป่านไม่ยาวพอ การแข่งขันทางด้านราคาดังกล่าวอาจจะมีความเสี่ยงต่อธุรกิจในระยะยาวได้
สำหรับในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาด Last-mile Delivery จะโตในอัตราที่ชะลอลงจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อความต้องการใหม่ๆ ของตลาด E-Commerce เริ่มอิ่มตัวหรือชะลอ ขณะที่ผู้ประกอบการ Last-mile Delivery มีจำนวนมากรายให้ลูกค้าได้เลือกใช้บริการ นำมาซึ่งการแข่งขันของผู้ประกอบการ Last-mile Delivery ที่รุนแรงขึ้นเพื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้า และท้ายที่สุด ตลาดจะเหลือเพียงผู้ประกอบการที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า Last-mile Delivery ของผู้ประกอบการ E-Market Place จะเข้ามามีบทบาทมากและได้เปรียบคู่แข่งมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบ Fulfillment หรือการบริการที่ครบวงจรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในส่วนของ Last-mile Delivery ทั้งที่ลงทุนทำ Last-mile Delivery ของตนเอง รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจทั้งห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลต่อผู้ประกอบการ Last-mile Delivery รายอื่นๆ ที่อยู่ในตลาด โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่อาจจะมีอำนาจในการต่อรองน้อยลง และแข่งขันอย่างลำบากมากขึ้น
ดังนั้น ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ Last-mile Delivery รวมถึงอาจมีการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายบริการไปสู่สินค้าใหม่ เช่น อาหารทะเลสด ผักผลไม้สด สินค้า FMCG หรือแม้แต่การชูจุดขายด้านรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การจัดส่งแบบไม่มีมลพิษ โดยใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการมองหาโอกาสในตลาด Cross-border E-Commerce อย่างไรก็ดี การปรับตัวดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีเงินทุน มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว หรือต้องมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งท้ายที่สุด อาจจะเห็นแนวโน้มของการควบรวมกิจการ หรือจับมือเป็นพันธมิตร เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจมากขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น