Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ตุลาคม 2563

บริการ

ปรับกลยุทธ์การบริหารซัพพลายเชนโลกเข้าสู่ Just In Case รองรับความไม่แน่นอนจากความชะงักงันของซัพพลายเชนโลก กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3151)

คะแนนเฉลี่ย
​การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ซัพพลายเชนโลกชะงักงันอย่างรุนแรง และทำให้ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกตระหนักถึงจุดอ่อนของกลยุทธ์ Just In Time ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากโรคระบาด และสงครามการค้า ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตชั้นนำของโลกจึงเริ่มปรับกลยุทธ์การบริหารซัพพลายเชนไปสู่ระบบ Just In Case กันมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การบริหารจัดการซัพพลายเชนแบบ Just In Case จะทำให้ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 69,000 – 165,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 7.8-18.6% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 โดยผู้ใช้บริการคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น ผู้ประกอบการคลังสินค้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมจึงควรปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ โดยการให้บริการเสริมต่าง ๆ เช่น การให้บริการ Vendor Managed Inventory (VMI) ซึ่งก็คือบริการการจัดส่งสต็อกสินค้าคงคลังของลูกค้า ไปให้ที่โรงงานของลูกค้าของลูกค้า ในการปรับโมเดลทางธุรกิจเพื่อให้บริการ VMI นั้น ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์ โดยสามารถให้บริการกับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตหลายรายได้ในคลังสินค้าเดียวกัน (pooled warehouse) ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้าดีขึ้น พร้อมทั้งสามารถเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าได้อีกด้วย

ในภาพรวมของธุรกิจคลังสินค้า ยังไม่มีความจำเป็นสำหรับการขยายพื้นที่คลังสินค้าเพื่อรองรับความต้องการพื้นที่คลังสินค้าของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการเช่าพื้นที่คลังสินค้ายังอยู่ที่ประมาณ 84% ของพื้นที่คลังสินค้าทั้งหมด หรือมีพื้นที่คลังสินค้าที่ว่างอยู่ประมาณ 719,000 ตารางเมตร จะเห็นได้ว่าอุปทานของคลังสินค้าในระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังสามารถรองรับความต้องการพื้นที่คลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ได้

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยี IT เพื่อทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจที่ใช้คลังสินค้าร่วมกันระหว่างผู้ใช้บริการคลังสินค้า (pooled warehouse) จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บสินค้า และประหยัดพื้นที่คลังสินค้าลงได้อีก จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ประกอบการคลังสินค้า เมื่อเทียบกับการเพิ่มพื้นที่คลังสินค้าเพียงอย่างเดียว ประกอบกับ ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจากการปรับกลยุทธ์เป็น Just In Case คาดว่าจะคงอยู่ในระยะกลาง (1-5 ปี ข้างหน้า) แต่ในระยะยาว (5-10 ปีข้างหน้า) ซัพพลายเชนโลกก็อาจมีการปรับตัวได้อีก เช่น อาจมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ดังนั้น การลงทุนขยายพื้นที่คลังสินค้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมจึงยังมีความเสี่ยงสูง และไม่มีความจำเป็นในเวลานี้​


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ