อุตสาหกรรมการก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในอนาคตเนื่องจากที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างในไทยมีการใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor-intensive) แต่จากปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้างในช่วงหลัง ทำให้ธุรกิจก่อสร้างอาจจะต้องมองหาแนวทางการก่อสร้าง ที่ใช้แรงงานน้อยลงโดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีการก่อสร้างเข้ามาทดแทน เทคโนโลยีที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาข้างต้นได้คือ การก่อสร้างแบบใช้วัสดุสำเร็จรูปยกมาติดตั้ง (Pre-fabrication or Pre-cast Construction) โดยวิธีการก่อสร้างนี้น่าจะทำให้ต้นทุนรวมของโครงการก่อสร้างลดลงโดยเฉลี่ย 15% ต่อโครงการ จากการลดการใช้แรงงานประมาณ 50% และระยะเวลาก่อสร้างที่เร็วขึ้นประมาณ 30%
ปัจจุบันการก่อสร้างรูปแบบนี้นิยมใช้ใน งานก่อสร้างเอกชนที่เป็นอาคารที่พักอาศัยแนวราบมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ที่ในปี 2563 มีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 1.39 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 11% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด และมีสัดส่วนโครงการที่ใช้งาน Pre-cast ต่อจำนวนโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบเอกชนทั้งหมด อยู่ที่ประมาณ 48% ในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าสัดส่วนงานก่อสร้างที่จะใช้งานก่อสร้างรูปแบบ Precast ในกลุ่มอาคารที่พักอาศัยแนวราบของเอกชนน่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% จนถึงปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจากแรงงานก่อสร้างที่หาได้ยากขึ้นและมีค่าแรงที่สูงขึ้นเป็นหลัก
นอกจาก Pre-cast จะช่วยคุมต้นทุนทางด้านการก่อสร้างแล้ว การก่อสร้างรูปแบบนี้อาจจะตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตด้วย เนื่องจากในปี 2564 ประเทศไทยคาดว่าจะถูกจัดเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้แนวโน้มรูปแบบที่พักอาศัยอาจจะต้องเปลี่ยนไปเพื่อรองรับความต้องการของสังคมวัยชรา
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น