Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 พฤศจิกายน 2550

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เงินเฟ้อจีน : เพิ่มสูงขึ้น … การส่งออกยังแข่งขันได้ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2064)

คะแนนเฉลี่ย
อัตราเงินเฟ้อของจีนและไทย ปี 2550
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกของจีนที่วัดจากราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าไทยที่มีค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันที่ร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของจีนที่ปรับสูงขึ้นในช่วงดังกล่าวสืบเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากราคาสินค้าผู้บริโภคในหมวดอาหารซึ่งเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 10.7 ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของจีนที่วัดจากราคาสินค้าของผู้ผลิต (PPI) ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2550 อัตราดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่ร้อยละ 3.0 หากเปรียบเทียบกับไทยจะพบว่าในช่วงดังกล่าวอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เท่านั้น
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยทั้งที่วัดจากราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตยังต่ำกว่าจีน แต่ในด้านการส่งออก อัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นตัวแปรที่สำคัญเช่นกัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะพบว่าในช่วงปี 2550 เงินเหรียญสหรัฐฯได้อ่อนค่าลงร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับเงินบาท แต่อ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน และเมื่อนำผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศมาพิจารณาร่วมกันจะพบว่า อัตราแลกเปลี่ยนบวกด้วยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่วัดจากราคาสินค้าผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ผลิตในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 และ 11.4 ตามลำดับ ในขณะที่ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 8.4 และ 8.0 เท่านั้น เห็นได้ว่าไทยยังคงเสียเปรียบจีนจากต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า
ต้นทุนส่งออกของไทยและจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2550
CPI
PPI
จีน
ไทย
จีน
ไทย
CPI (%)
4.1
2.0
PPI (%)
2.7
2.0
อัตราการแข็งค่าของสกุลเงิน (%)
4.3
9.4
อัตราการแข็งค่าของสกุลเงิน (%)
4.3
9.4
ต้นทุนส่งออกเพิ่มขึ้น (%)
8.4
11.4
ต้นทุนส่งออกเพิ่มขึ้น (%)
8.0
11.4
แหล่งที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
* เป็นอัตราการแข็งค่าของเงินบาท (ไทย) และหยวน (จีน) เมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2550
การปรับตัวของไทยในยุคเงินบาทแข็งค่า
แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจนทำให้ไทยเสียเปรียบจีนด้านต้นทุนส่งออก แต่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศรวมถึงจีน ควรมุ่งเน้นที่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าภาครัฐควรจะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการของไทย ดังนี้
§ ภาครัฐควรกำหนดแผนนโยบายการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในระยะยาว แผนนโยบายดังกล่าวควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะของบุคลากร การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง การให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี รวมถึงการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างคุ้มค่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น
§ ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยควรมองหาโอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจกับจีน เช่นที่ผ่านมาจีนมีการนำเข้าวัตถุดิบจากไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก ลำใยอบแห้ง ฯลฯ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและเงินทุนแก่ผู้ผลิตของไทยเพื่อให้สามารถผลิตวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อการส่งออก
§ ในส่วนของอุตสาหกรรมที่ไทยยังมีทักษะในการผลิตแต่เสียเปรียบจีนด้านต้นทุน เช่นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบกการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศที่ค่าแรงต่ำและทรัพยากรราคาถูก เช่นลาว เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันกับจีนในด้านการส่งออกได้มากขึ้น
ท่ามกลางภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงจากนานาประเทศรวมถึงจีน การปรับตัวของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนของไทยจึงมีความสำคัญเร่งด่วน และเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไปควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าภาคการผลิตและการส่งออกของไทยจะยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ