Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 พฤษภาคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

กรอบข้อตกลง CEPA เปิดโอกาสธุรกิจภาคบริการระหว่างจีนและฮ่องกง...หวั่นกระทบธุรกิจท่องเที่ยวของไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2517)

คะแนนเฉลี่ย

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ฮ่องกง Closer Economic Partnership Arrangement (CEPA) ที่เพิ่งลงนามไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2552 ได้เปิดโอกาสทางการค้าบริการอย่างเสรีมากขึ้น โดยออกมาตรการเพิ่มเติมรวม 29 มาตรการ ครอบคลุมธุรกิจบริการทั้งสิ้น 20 สาขา รวมถึงธุรกิจภาคบริการด้านการวิจัยและการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งการลงนามขยายข้อตกลงระหว่างจีนและฮ่องกงดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของฮ่องกงโดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจภาคบริการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฮ่องกง มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 92.3 ของจีดีพี ในปี 2551

อย่างไรก็ตาม ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปีที่ผ่านมาชะลอตัว โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เศรษฐกิจของฮ่องกงขยายตัวติดลบร้อยละ 2.6 (y-o-y) ขณะที่อัตราการว่างงานในฮ่องกงพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จนทำให้ทางรัฐบาลฮ่องกงออกนโยบายสร้างงานให้แก่ประชาชนโดยทุ่มงบประมาณกว่า 38.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เพื่อหวังกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรอบข้อตกลง CEPA ของจีนและฮ่องกงจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในด้านธุรกิจค้าบริการโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจเป็นผลกระทบซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยที่กำลังชะลอตัวอย่างรุนแรง จากผลพวงของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองไทย กอปรกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาส่งผลให้การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ ปี 2552 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาไทยทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2552 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทย ลดลงกว่าร้อยละ 35 และร้อยละ 53.41 ตามลำดับ ซึ่งสวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปฮ่องกงซึ่งเติบโตร้อยละ 12.6 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งนี้ คาดว่า แนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวของฮ่องกงในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจยังจะขยายตัวได้ตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่น่าจะเพิ่มขึ้นซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของฮ่องกง โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2552 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังฮ่องกงอาจจะขยายตัวราวร้อยละ 10 เทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเปิดเสรีของภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายใต้กรอบข้อตกลง (CEPA) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางท่องเที่ยวและเพิ่มเส้นทางการบิน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวของฮ่องกงคงต้องได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้นักท่องเที่ยวระยะไกลจากภูมิภาคอเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีนี้และสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้และฮ่องกงก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปี 2552 นั้น น่าจะมีอัตราติดลบต่อเนื่องจาก 2 เดือนแรกของปีนี้ จากความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย และปัจจัยท้าทายภายใต้กรอบข้อตกลงการเปิดเสรีด้านการค้าและภาคบริการของจีนและฮ่องกง (CEPA) ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แนวโน้มการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยวในไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังธุรกิจบริการสาขาอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสปาและนวดแผนโบราณ และธุรกิจขนส่งการบิน ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดกลยุทธ์และแผนการตลาดการท่องเที่ยวเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ดังนี้

v รัฐบาลควรเร่งดำเนินการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิดเพื่อออกมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของสุขภาพให้แก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งให้ความรู้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเกี่ยวกับการป้องกันและการแพร่กระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้

v หน่วยงานของภาครัฐควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ

v ควรเร่งจัดทำการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในรูปแบบภาษาจีน เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายในประเทศจีนมากยิ่งขึ้น

v ควรทำการวิจัยและศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อจัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวจีน

v หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรสร้างเครือข่ายและหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมกลุ่มนักท่องเที่ยวในจีนและเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในตลาดจีน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ