Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 พฤษภาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

มาตรการควบคุมฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีน ... ชะลอการเก็งกำไร แต่ยังคงมีแรงขับเคลื่อนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตต่อไปได้ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2822)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจจีนที่กลับมาเติบโตอย่างร้อนแรง โดยในไตรมาสแรกขยายตัวถึงร้อยละ 11.9 ทำให้อัตราเงินเฟ้อและราคาอสังหาริมทรัพย์เร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดในเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.8 (MoM) และราคาอสังหาริมทรัพย์ใน 70 เมืองขนาดกลางและใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 (YoY) สูงขึ้นจากที่เติบโตร้อยละ 11.7 ในเดือนมีนาคม (YoY) นอกจากนั้นมูลค่าสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 7.74 แสนล้านหยวน สูงขึ้นกว่าเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ 5.10 แสนล้านหยวน การเติบโตอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ร่วมกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงมูลค่าการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญเร่งให้ภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรากฎชัดในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และทวีความรุนแรงขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้คาดว่าทางการจีนคงต้องออกมาตรการเพิ่มเติมในระยะถัดไปเพื่อควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

ตั้งแต่ต้นปีนี้ ทางการจีนใช้หลากหลายมาตรการเพื่อสกัดกั้นฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนโยบายการเงินผ่านการกำหนดขั้นต่ำอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน การเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ และการควบคุมสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ นโยบายการคลังผ่านมาตรการทางภาษี และการควบคุมพฤติกรรมการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ว่ามาตรการที่เริ่มเข้มงวดขึ้นเริ่มเห็นผลในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ของประเทศลดลงทันทีในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือน แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์โดยรวมยังคงปรับสูงขึ้น มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไปคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับบนราคาสูงในเขตเมือง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเพื่อเก็งกำไร

แต่สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับกลางและล่างคาดว่ายังเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากปริมาณอุปสงค์ที่แท้จริง (real demand) ต่ออสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอยู่มาก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า มาตรการควบคุมต่างๆ ที่ออกมาจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยสกัดกั้นการเก็งกำไร และช่วยป้องกันเศรษฐกิจจีนจากภาวะฟองสบู่ที่อาจรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป ในขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องนั้นจะช่วยไม่ให้ผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นมีความรุนแรงมากนัก นอกจากนี้การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนยังจะทำให้ปริมาณการบริโภคและการลงทุนในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดอานิสงส์ต่อการค้าระหว่างไทยกับจีนตามไปด้วย

ทั้งนี้ข้อมูลใน ไตรมาสแรกของปีนี้ จีนขยับแซงสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยด้วยมูลค่าการส่งออก 5,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 69.9 (YoY) สินค้าส่งออกหลักของไทยไปจีนได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง นอกจากนั้นจีนยังเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญของไทยเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่า 5,244 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 55.35 (YoY) ในไตรมาสแรก สินค้านำเข้าหลักจากจีน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ