Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 มิถุนายน 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

มาตรการควบคุมธุรกรรมฟอร์เวิร์ด...ช่วยสร้างเสถียรภาพต่อค่าเงินวอน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2843)

คะแนนเฉลี่ย

หลังจากที่ได้ส่งสัญญาณล่วงหน้าเกี่ยวกับการประกาศใช้มาตรการควบคุมการปริวรรตเงินตราต่างประเทศให้กับนักลงทุนและตลาดการเงินมาระยะหนึ่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2553 ทางการเกาหลีใต้ได้ประกาศรายละเอียดของมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปริวรรตเงินตราต่างประเทศของสถาบันการเงินเกาหลีใต้ สาขาของธนาคารต่างประเทศที่ดำเนินการในเกาหลีใต้ รวมถึงบริษัทภาคเอกชนต่างๆ โดยวัตถุประสงค์ของมาตรการเพิ่มเติมนี้ อยู่ที่การป้องกันการแกว่งตัวอย่างรุนแรงของค่าเงินวอน การสกัดการพุ่งขึ้นของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของเกาหลีใต้ และบรรเทาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงินที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีระดับหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งนั้น มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างของภาคการส่งออกและความไม่สมดุลในตลาดฟอร์เวิร์ดของเกาหลีใต้ ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ระยะสั้นที่สูงดังกล่าวได้กลายเป็นชนวนให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีความอ่อนไหวค่อนข้างมากต่อกระแสการไหลเวียนของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติท่ามกลางสภาวะวิกฤต ดังจะเห็นได้จากบทเรียนของภาวะการขาดสภาพคล่องเงินดอลลาร์ฯ อย่างหนักในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา และแม้ว่าผลพวงจากวิกฤตหนี้ยุโรปในปัจจุบันที่มีต่อสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ฯ จะยังไม่อยู่ในภาวะที่ตึงตัวเทียบเท่ากับในอดีต แต่ทางการเกาหลีใต้ก็ใช้ช่วงเวลาสำคัญนี้ ในการออกมาตรการควบคุมการปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประกาศมาตรการควบคุมธุรกรรมฟอร์เวิร์ดในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างให้ตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินวอนเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นภายใต้กระแสการเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนเช่นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ แม้ว่าการตอบรับของตลาดการเงินในแถบเอเชียในช่วงหลังการประกาศมาตรการควบคุมการปริวรรตเงินตราต่างประเทศของเกาหลีใต้ จะไม่ได้มีลักษณะของการตื่นตระหนก โดยในส่วนของเงินวอนก็ดีดตัวแข็งค่าขึ้น พร้อมๆ กับการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของเกาหลีใต้ เนื่องจากรายละเอียดของมาตรการส่วนใหญ่เป็นไปตามกระแสข่าวที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบกับทางการเกาหลีใต้ก็ได้ให้เวลากับสถาบันการเงินที่มีระดับธุรกรรมอนุพันธ์เงินตราต่างประเทศเกินเพดานที่กำหนดในการปรับตัว กระนั้นก็ดี คงจะต้องติดตามมาตรการต่อเนื่องของทางการเกาหลีใต้ที่อาจทยอยออกมาในระยะข้างหน้า รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการควบคุมการปริวรรตเงินตราดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นในเรื่องของโอกาสในการทำกำไรในตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของเกาหลีใต้ที่ได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติค่อนข้างมาก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ